xs
xsm
sm
md
lg

ไม่เลื่อนแล้ว! เคาะชดเชย 3.2 หมื่นล้าน "อปท.ขนาดใหญ่/เล็ก" 7.7 พันแห่ง กระทบจัดเก็บภาษีที่ดินสิ่งก่อสร้างช่วงโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไม่เลื่อนแล้ว! บอร์ด ก.ก.ถ. นัดเคาะชดเชย "อปท.ขนาดใหญ่" 266 แห่ง กระทบจัดเก็บภาษีที่ดินสิ่งก่อสร้าง จ่อชงครม.เสนอใช้งบกลาง 22,030.11ล้านบาท หลังรายได้หด กระทบสู้โควิด เผยตัวเลขรายงาน สถ. พบ "194 เทศบาลเมือง" รายได้ลด 3,943 ล้าน "30 เทศบาลนคร" รายได้ลด 3,697 ล้าน "กทม." รายได้ลดลง 13,969 ล้าน "เมืองพัทยา" รายได้ลดลง 419 ล้าน ส่วน "เทศบาลตำบล-อบต." 7,500 แห่ง พบมีรายได้ลด 11,157 ล้าน จ่อรับชดเชย 10,067 ล้าน ในคราวเดียวกัน

วันนี้ (11 มิ.ย.64) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ เตรียมกลับมาประชุมอีกครั้งในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ ภายหลัง"เลื่อนประชุม" โดยไม่มีกำหนดมาตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

โดยเฉพาะวาระที่เลื่อนและวาระเพิ่มเติมที่น่าสนใจ ได้แก่ แนวทางการผลักดันเรื่องการชดเชยรายได้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 ให้กับ อปท.ขนาดใหญ่ ประกอบด้วย เทศบาลนคร เทศบาลเมือง กทม. และเมืองพัทยา ที่ถูกผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ เป็นไปตามที่คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพัฒนาการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 2/2564 ที่มี รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ ผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ก.ถ. เป็นประธานฯ เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ เพื่อชดเชยรายได้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563

"จะมีการเสนอ ให้ ก.ก.ถ. พิจารณา เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อขอ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วงเงิน 22,030.11 ล้านบาท ชดเชยรายได้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับหน่วยงานท้องถิ่นดังกล่าว ที่จัดเก็บภาษีฯปี 2563 ลดลงจากการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินกับภาษีบำรุงท้องที่ ปี2562"

จากข้อมูลของ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น( สถ.) รายงานรายได้ที่ลดลง ณ วันที่ 31 ธ.ค.2563 พบว่า อปท.ขนาดใหญ่ 226 แห่ง มีรายได้จากการจัดเก็บจริง 1,990.14 ล้านบาท ลดลงจากรายได้เดิมจากการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินกับภาษีบำรุงท้องที่ ปี 2562 ที่เคยจัดเก็บได้ 24,020.25 ล้านบาท โดยมีรายได้ลดลง 22,030.11 ล้านบาท

"194 เทศบาลเมือง รายได้ลดลง 3,943.47 ล้านบาท จำนวน 30 เทศบาลนคร รายได้ลดลง 3,697.87 ล้านบาท กทม.พบว่า รายได้ลดลง 13,969.61 ล้านบาา ขณะที่เมืองพัทยา รายได้ลดลง 419.16 ล้านบาท"

นอกจากนี้ ยังรายงานการจัดเก็บภาษีในส่วนของท้องถิ่นขนาดเล็ก เทศบาลตำบล และองค์การบริกหารส่วนตำบล (อบต.) 7,500 แห่ง มีรายได้จากการจัดเก็บจริง 1,349.38 ล้านบาท ลดลงจากรายได้เดิมจากการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินกับภาษีบำรุงท้องที่ ปี 2562 ที่เคยจัดเก็บได้ 12,506.78 ล้านบาท โดยมีรายได้ลดลง 11,157.40 ล้านบาท

"เทศบาลตำบล 2,239 แห่ง ที่มีรายได้ลดลง 5,237.91 ล้านบาท จากที่เคยจัดเก็บได้ 5,874.53 ล้านบาท และ ในส่วนของ อบต. 5,261 แห่ง ที่มีรายได้ลดลง 5,889.49 ล้านบาท จากที่เคยจัดเก็บได้ 6,632.25 ล้านบาท"

เมื่อต้นปี 2564 คณะรัฐมนตรี เพิ่งเห็นชอบ ตาม ก.ก.ถ. ที่เสนอขอให้รัฐบาลชดเชยการลดลงของรายได้ท้องถิ่นจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในวงเงิน 5.33 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมรายได้ปี 2563 – 2565 โดยชดเชยในปี 2563 จำนวน 32,585 ล้านบาท

ภายหลังคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพัฒนาการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เกี่ยวกับการชดเชยรายได้ให้แก่ อปท. ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีนโยบายลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ร้อยละ 90

เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 เฉพาะในส่วนของเทศบาลตำบล (ทต.) 2,247 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,300 แห่ง ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ในปีงบประมาณ 2564 ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.)

เงินที่ได้รับการชดเชยเฉพาะส่วนของ อบต. และ เทศบาลตำบล นี้มีจำนวน 10,067.59 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 84.5% จากยอดเงินภาษีที่ลดลงราว 11,900 ล้านบาท

สำหรับมติครม.ฉบับดังกล่าว ได้ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) รวบรวมข้อมูลและวงเงินชดเชย อปท.ขนาดใหญ่ เสนอต่อรัฐบาล เพื่อขอรับการจัดสรรเงินชดเชยจากงบกลางปี 2563

โดยเงินชดเชยนี้จะจัดสรรในลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไปให้แก่ อปท. สามารถนำไปใช้จ่ายได้ภายใต้กรอบภารกิจ หากใช้ไม่หมดให้ตกเป็นเงินสะสมของ อปท.

ปัจจุบันมี อปท. ขนาดใหญ่ จำนวน 2,155 แห่ง ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง เทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 195 แห่ง และองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา) 2 แห่ง.


กำลังโหลดความคิดเห็น