xs
xsm
sm
md
lg

มท.ชี้ช่องท้องถิ่น ฟันภาษีธุรกิจ เลี่ยงประดิษฐ์ป้าย “ตัวอักษรโฆษณา” เป็นอักษรแบบอื่น พ่วงศึกษาจัดเก็บ “ป้าย-ตู้สินค้า” ลํ้าที่สาธารณะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฝ่ายกฎหมายมหาดไทย ชี้ช่อง “ท้องถิ่นทั่วประเทศ” เล็งเก็บภาษีธุรกิจหัวหมอ ประดิษฐ์ป้าย “ตัวอักษรโฆษณา” จากภาษาไทย เป็นอักษรแบบอื่น ส่อเลี่ยงกฎหมายภาษีป้าย ปี 2510 ด้าน “สถ.” ยันป้ายดังกล่าว เข้าข่ายต้องชำระภาษี ในอัตรา 3 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร เผย ฝ่าย กม.มท. ยังเสนอศึกษาแก้ กม.จัดเก็บภาษีท้องถิ่น กรณี “เอกชนล่วงลํ้าพื้นที่สาธารณะ” ยกกรณีป้ายติดในอาคาร-ตู้จำหน่ายสินค้า ลํ้าออกมานอกอาคาร

วันนี้ (9 มิ.ย. 64) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 มีมติส่งความเห็นให้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) รับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่อข้อหารือของ สถ. กรณีการยื่นอุทธรณ์การจัดเก็บภาษีป้ายของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งระดับประเทศ โดยเป็นตัวอย่างในจังหวัดทางภาคเหนือ

กรณีเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้า หรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้ หรือโฆษณาการค้า หรือกิจการอื่น เพื่อหารายได้ ตามคำนิยามของพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 และที่แก้ไขเพิ่มเติม “จะต้องเป็นเครื่องหมายที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายบริการจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 หรือไม่

“กรณีป้ายที่มีตัวอักษร เป็นป้ายโฆษณา พบว่า มีลักษณะประดิษฐ์ ให้ต่างจากอักษรไทยทั่วไป และมีการวางลักษณะตำแหน่งตัวอักษรที่โดดเด่น จะถือเป็นเครื่องหมายที่ต้องเสียภาษีป้ายเป็นประเภท (2) ซึ่งได้แก่ ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษร ต่างประเทศ หรือปนกับภาพหรือเครื่องหมายอื่น หรือไม่”

ขณะที่จังหวัดต้นทาง และ สถ. มีความเห็นไปในทิศทางดียวกันว่า บริษัทเอกชนดังกล่าว มีเจตนาที่จะใช้อักษร ในลักษณะเครื่องหมายการค้า เพื่อใช้โฆษณาบริการ แม้ยังมิได้รับการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2543 จึงเห็นว่า เป็นป้ายประเภท (2) ป้ายที่มีอักษรไทย ปนอักษรต่างประเทศ และหรือปนกับภาพ และหรือเครื่องหมายอื่น ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510

“สถ. เห็นว่า แต่เนื่องจากตัวอักษรดังกล่าว เป็นอักษรที่ทำขึ้น เพื่อให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่า เป็นอักษรที่ใช้แทนชื่อของบริษัทแห่งนี้ ซึ่งสื่อถึงการประกอบการค้าของบริษัทฯ จึงถือเป็นเครื่องหมายตามนัยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2534”

อย่างไรก็ตาม แม้ตัวอักษร “จะถือเป็นเครื่องหมาย” แต่การพิจารณาประเภทป้ายตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 จะต้องพิจารณาตามข้อความที่ปรากฏ แม้ตัวอักษรดังกล่าว จะมีลักษณะเป็นการตกแต่งให้เกิดความแตกต่างจากอักษรทั่วไป แต่ก็เข้าใจว่าเป็นอักษรไทย ดังนั้น จึงถือเป็นป้ายประเภท (1) ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน คิดอัตรา 3 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2535)

ฝ่ายกฎหมาย มท.ชุดที่ 1 ยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่า กรณี สถ.กำลังศึกษาเพี่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 นับ จึงเห็นควรให้นำประเด็นนี้ ไปพิจารณา

“เนื่องจากปัจจุบันในหลายประเทศได้มีกฎหมายกำหนดเกี่ยวกับการอนุญาตและจัดเก็บเภาษีในลักษณะ มีการเข้าใช้ประโยชน์ไนพื้นที่ที่ล่วงลํ้า เข้าไปในเขตพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ร่วมกัน แต่ประเทศไทย ยังไม่มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีที่มีสักษณะการล่วงลำเข้ามาในพื้นทีสาธารณะดังกลาว เช่น ป้ายที่ติดในอาคาร แต่มีการลํ้าออกมานอกอาคาร หรือตู้จำหน่ายสินค้าต่างๆ ที่ติดกับอาคารแต่มีการลํ้าออกมานอกอาคารบางส่วน”

หากมีกรณีการติดป้ายหรือการใช้พื้นที่ในลักษณะดังกล่าว จึงควรมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น