มติ ป.ป.ช.เคาะชี้มูล 4 ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน ภท.โดน 3 คน พปชร. 1 คน ส่งฟันอาญา-จริยธรรมร้ายแรง หลังอ้างเหตุผลฟังไม่ขึ้น
วันนี้ (8 มิ.ย.) มีรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีการพิจารณากรณี ส.ส. 8 ราย ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย 4 ราย คือ นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง นางนาที รัชกิจประการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายสมบูรณ์ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ นายภูมิศิษฐ์ คงมี ส.ส.พัทลุง พรรคพลังประชารัฐ 3 ราย คือ นางภริม พูลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ น.ส.ธนิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. และ นายทวิรัฐ รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังท้องถิ่นไท 1 ราย คือ นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน
โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายฉลอง นายภูมิศิษฐ์ นางนาที กรณีเสียบบัตรแทนกันระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ในความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ที่บัญญัติไว้ว่าเจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยคดีอาญา ป.ป.ช.จะส่งให้อัยการเพื่อส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นอกจากนี้ ยังมีความผิดจริยธรรมร้ายแรง ซึ่ง ป.ป.ช.จะส่งให้ศาลฎีกาโดยตรงเลย
ขณะที่ น.ส.ภริม นายทวิรัฐ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน ไม่มีพฤติการณ์ เนื่องจากพยานระบุว่า เห็นแค่ถือบัตร 2 ใบแต่ไม่เห็นว่ามีการเสียบบัตรแทนกัน จึงไม่ผิดทั้งอาญาและไม่ผิดจริยธรรม แต่ผิดเฉพาะข้อบังคับที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จึงส่งเรื่องไปยังประธานรัฐสภาดำเนินการ ส่วนอีก 2 รายคือนายสมบูรณ์ และนายโกวิทย์ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป เนื่องจากพยานหลักฐานไม่ชัดเจน
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังมีมติชี้มูล น.ส.ธนิกานต์ กรณีฝากบัตรให้ผู้อื่นเสียบแทนระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 แม้ น.ส.ธนิกานต์ จะอ้างว่า เหตุที่ไม่อยู่ในห้องประชุม เพราะไปร่วมงานเสวนารายการหนึ่งที่สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง แต่เหตุผลไม่สามารถหักล้างข้อกล่าวหาได้ จึงมีมติชี้มูลในความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ที่บัญญัติไว้ว่าเจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยคดีอาญา ป.ป.ช.จะส่งให้อัยการเพื่อส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นอกจากนี้ ยังมีความผิดจริยธรรมร้ายแรง ซึ่ง ป.ป.ช.จะส่งให้ศาลฎีกาโดยตรงเลย