xs
xsm
sm
md
lg

ครม.จ้าง พนง.ราชการเฉพาะกิจหมื่นอัตรา ช่วยผู้รับผลกระทบโควิด รับทราบแผนเปิดเที่ยวภูเก็ต 1 ก.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ประยุทธ์” เผย ครม.มีมติจ้างพนักงานราชการ เฉพาะกิจจำนวน 10,000 อัตรา วงเงิน 2 พันกว่า ล. ช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดและเด็กจบใหม่ “รับทราบ” แผนนำร่องภูเก็ตแซนบ็อกซ์เตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวแล้ว 1 ก.ค.

วันนี้ (8 มิ.ย.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันเดียวกันนี้ได้มีมติเห็นชอบให้มีการจ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจจำนวน 10,000 อัตรา เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นวงเงินจำนวนกว่า 2,200 ล้านบาท โดยจะเปิดรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีที่จบใหม่ จัดสรรอัตราเข้าสู่หน่วยงานราชการที่มีภารกิจสำคัญ และเร่งด่วนทั่วประเทศโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทน 18,000 บาทต่อเดือน มีสัญญาการจ้างงานไม่เกินหนึ่งปี และได้รับสิทธิประโยชน์เทียบเท่า พนักงานราชการปกติรวมถึงเงินประกันสังคมด้วย ถือเป็นมาตรการหนึ่งที่รัฐบาลต้องการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 เรียกว่าได้เข้าเป็นพนักงานราชการเฉพาะกิจ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนั้น คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อเสนอจากที่ประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ หรือ ศบศ. คือ การเตรียมการเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติของ 10 จังหวัดนำร่อง ในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปี 2564 โดยเริ่มจากภูเก็ตแซนบ็อกซ์ก่อน เพื่อเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว 2 โดส ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม เป็นต้นไป ซึ่งจากสถานการณ์ในปัจจุบันจนถึงวันนี้ ภูเก็ตมีผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มแล้ว ประมาณ 400,000 คน มากกว่า 60% ของจำนวนประชากร โดยจะมีการคัดกรองและติดตามนักท่องเที่ยวอย่างเข้มงวด ซึ่งนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาต้องมีใบรับรองการฉีดวัคซีนที่ฉีดครบโดสแล้วอย่างน้อย 14 วัน ก่อนการเดินทาง และมีใบอนุญาตเข้าประเทศอย่างถูกต้อง มีการตรวจโรคระบาด ในช่วงการพักอาศัยในพื้นที่ โดยภูเก็ตแซนบ็อกซ์นั้น จะเป็นการประเมินผลและนำไปเป็นต้นแบบในพื้นที่อื่นๆ ด้วยในระยะต่อไป โดย ครม.รับทราบ นโยบายนี้โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปปรับปรุงให้เกิดความเหมาะสมภายใต้ความสมดุลด้านความปลอดภัย ด้านการสาธารณสุข และการฟื้นฟูทางด้านเศรษฐกิจไปด้วย ก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ และกลับมาให้ ครม. พิจารณาอนุมัติรายละเอียดตามที่ได้แก้ไขต่อไป

ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบข้อเสนอแนวทางการจัดสรรกรอบอัตรากำลังและกลไกการบริหารจัดการพนักงานราชการเฉพาะกิจ และผลการจัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการเฉพาะกิจ จำนวน 10,000 อัตรา พร้อมอนุมัติ วงเงิน 2,254.32 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจ ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อเพิ่มโอกาสการจ้างงานผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ด้วยระบบพนักงานราชการ โดยรายละเอียดดังนี้
- กรอบอัตรากำลัง : 10,000 อัตรา เฉพาะในกลุ่มงานบริหารทั่วไป
- กลุ่มเป้าหมาย : ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี
- หน่วยงานที่ขอรับจัดสรรอัตรากำลัง : 28 ส่วนราชการ ได้แก่ หน่วยงานในราชการบริหารส่วนภูมิภาค ระดับจังหวัด หรือหน่วยงานในราชการบริหารส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคที่เป็นหน่วยปฏิบัติ โดยเป็นส่วนราชการที่มีภารกิจสำคัญและเร่งด่วน
- ระยะเวลาการจ้างงาน : ไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ทำสัญญาจ้างหรือไม่เกิน 30 กันยายน 2565 และไม่มีการต่อสัญญา
- อัตราค่าตอบแทน/สิทธิประโยชน์ : 18,000 บาท/เดือน ตลอดสัญญาการจ้างงาน โดยได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับพนักงานราชการปกติ ยกเว้นเฉพาะในส่วนของสิทธิการลงเพื่อไปอุปสมบท หรือประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งกำหนดไว้ไม่เกิน 120 วัน

“ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังย้ำให้หน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอน วิธีดำเนินการจ้างพนักงานราชการ และแผนการดำเนินงาน รวมทั้งเร่งดำเนินการจ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2564 โดยคำนึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ซึ่งสำนักงาน ก.พ. จะได้ติดตามประเมินผลการดำเนินการรวมถึงผลสัมฤทธิ์จากการจ้าง เพื่อรายงานคณะรัฐมนตรีทราบต่อไปด้วย” นายอนุชา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น