ทีมโฆษกรัฐ เผย นายกฯลงพื้นที่พรุ่งนี้ตรวจศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ และศูนย์ฉีด ม.33 ใน กทม. สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ยันฉีดปูพรมทั่วประเทศตามกำหนด โชว์ตัวเลขจ้างงานโควิดระลอก 3 ในระบบดีขึ้นต่อเนื่อง ดันต่อ SME เข้าถึงสภาพคล่อง คิวต่อไปร้านอาหาร
วันนี้ (6 มิ.ย.) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตรียมลงพื้นตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ และศูนย์ฉีดวัคซีนผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ในวันจันทร์ที่ 7 มิ.ย. 64 นี้ โดยศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อมีเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนได้อย่างน้อยวันละประมาณ 10,000 คน ซึ่งสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเป้าหมายได้ที่กำหนดไว้ จากที่ได้เริ่มดำเนินการในเบื้องต้นตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา ส่วนการเปิดบริการจริงเต็มรูปแบบในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 นี้ จะเปิดให้บริการประชาชนที่ลงทะเบียนนัดหมายล่วงหน้าก่อนแล้วเท่านั้น เพี่อความชัดเจนว่าประชาชนที่เดินทางมาที่สถานีกลางบางซื่อ จะได้รับการฉีดวัคซีนตามกำหนดที่นัดหมายอย่างแน่นอน และเป็นการลดความแออัดของสถานที่ฉีดวัคซีนอีกด้วย
สำหรับการฉีดวัคซีนให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นั้น กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข โดย สปสช. กระทรวงการคลัง โดยธนาคารกรุงไทย และสถานพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม จัดการบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในสถานประกอบการ รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แก่แรงงานในภาคธุรกิจ เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว สร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนได้มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้ โดยจะเริ่มการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2564 นี้ ให้กับผู้ประกันตนที่ได้แจ้งความประสงค์ต้องการรับวัคซีนไว้กับฝ่ายบุคคลของสถานประกอบการต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และได้บันทึกลงระบบ e-service ของสำนักงานประกันสังคมไว้แล้ว ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้กำหนดจุดฉีดไว้ทั้งสิ้น 45 จุดทั่วกรุงเทพมหานคร และมีศักยภาพในการฉีดได้วันละ 50,000 คน
โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า “สำหรับการฉีดวัคซีนให้ประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับการนัดหมายไว้ก่อนแล้วนั้น สามารถดำเนินการได้ทั่วประเทศตามแผนเดิมที่กำหนดไว้ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้กระจายวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ทุกจังหวัดทั้งในส่วนของแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ การจัดส่งวัคซีนจากส่วนกลางไปยังสถานที่ฉีดวัคซีนต่างๆ ทั่วประเทศนั้น มีการปรับเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยจากเดิมที่ส่งให้จังหวัดเป็นรายเดือน ได้ทำการปรับเปลี่ยนเป็นแบบรายสัปดาห์ตามสถานการณ์แทน”
ด้าน นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ภาครัฐได้ออกมาตรการเพื่อเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการในรูปแบบต่างๆ เพื่อประคับประคองธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งยอดการให้ความช่วยเหลือจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยอด ณ วันที่ 31 พ.ค. มีที่อนุมัติแล้วทั้งสิ้น 20,839 ล้านบาท และในวันพรุ่งนี้ (7 มิ.ย.)
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมเปิดโครงการ “จับคู่กู้เงิน” โดยเป็นการประสานสถาบันการเงินเพื่อปล่อยกู้สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารและภัตตาคาร ที่มีอยู่กว่าแสนแห่งทั่วประเทศ เป็นกรณีพิเศษ เช่นดอกเบี้ยต่ำและเงื่อนไขพิเศษ เพื่อให้ร้านอาหารเข้าถึงสภาพคล่อง ต่อลมหายใจให้ดำเนินธุรกิจต่อไปโดยไม่ต้องปลดลูกจ้าง
นางสาวรัชดา ยังเปิดเผยถึงสถานการณ์การจ้างงานแรงงานในระบบ ว่า ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีขึ้น ดังเห็นได้จากตัวเลขผู้ประกันตนที่ว่างงานในแต่ละเดือนลดลง ต่อเนื่องนับจากต้นปี 64 กล่าวคือ เดือน ม.ค.มี 95,213 ราย เม.ย. 49,277 ราย และ ณ วันที่ 19 พ.ค. 12,451 ราย ในขณะที่มีผู้ประกันตนรายใหม่เพิ่มขึ้น เดือน ม.ค.มี 28,174 ราย เม.ย. 38,025 ราย และ ณ 19 พ.ค. 35,984 ราย อีกทั้งมีจำนวนผู้ประกันตนกลับเข้าสู่การจ้างงาน ในช่วงสี่เดือนแรกปีนี้ รวม 2.39 แสนราย ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขรวมของปีที่แล้วทั้งปี อยู่ที่ 2.49 แสนราย
ทั้งนี้ แม้จะเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นในการจ้างงานแรงงานในระบบ นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงต่อกลุ่มธุรกิจ SMEs และขนาดไมโคร ที่มีการจ้างงานนอกระบบอยู่มาก จึงได้สั่งการให้หน่วยงานรัฐออกมาตรการบรรเทาภาระหนี้ และร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคาร เร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงสินเชื่อได้รวดเร็วขึ้น จะได้ยังคงธุรกิจและรักษาการจ้างงานในโอกาสเดียวกัน อีกทั้ง มุ่งเน้นการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สอดรับกับความต้องการของภาคธุรกิจควบคู่กันไป