“โก้-ภัชริ” ทีมนโยบายไทยสร้างไทย เย้ยรัฐจัดงบฯขาดดุล-กู้เงินชนเพดาน ประจานมหาวิกฤตทางการคลังไทย จี้รัฐเร่งปรับแผนการใช้เงิน กู้มาต้องใช้ให้เป็น-ได้ ปย.สูงสุด หลังเหลวกู้ 1 ล้านล้านที่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำมาแล้ว
วันนี้ (1 มิ.ย.64) นายภัชริ นิจสิริภัช คณะทำงานนโยบาย พรรคไทยสร้างไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค “อาสาไทยสร้างไทย” ถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของสภาผู้แทนราษฎรว่า การขาดดุลงบประมาณปี พ.ศ.2565 วงเงิน 7 แสนล้านบาท หรือการที่รัฐมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ คือ การขาดดุลชนเพดาน เท่าที่กฎหมายอนุญาตให้ขาดดุลได้ และการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท (พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท) คือ การกู้เงินเกือบชนเพดานหนี้สาธารณะ 60% ของ GDP เท่าที่กฎหมายอนุญาต
“การที่รัฐจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลจนชนเพดาน และกู้เงินจนเกือบชนเพดาน หนี้สาธารณะ สะท้อนภาวะวิกฤตทางการคลังของประเทศได้อย่างชัดเจน แม้เราจะเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจมาหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งไหนที่รัฐบาลต้องเจอกับวิกฤตทางการคลัง ที่จะส่งผลต่อความยั่งยืนต่อการคลังของประเทศเท่านี้มาก่อน” นายภัชริ ระบุ
นายภัชริ ระบุอีกว่า จริงอยู่ว่าประเทศเจริญแล้วหลายประเทศ ก็ทำงบประมาณแบบขาดดุลมหาศาลเพื่อสู้กับโควิด หรือมีหนี้สาธารณะในอัตราที่สูง แต่ประเทศเหล่านั้นก็มีความสามารถในการหารายได้มาชดใช้ยอดขาดดุลที่ก่อไว้ ในขณะที่ประเทศไทย นับตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี พ.ศ.2557 เราจัดเก็บรายได้พลาดเป้าทุกปี ยกเว้นในปี พ.ศ.2562 ที่ยอดจัดเก็บรายได้พอดีกับประมาณการรายได้ เหตุเพราะในปีนั้นมีการเลือกตั้งใหญ่ ทำให้คนเกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นที่จะใช้จ่ายเงิน พอผลการจัดตั้งรัฐบาลออกมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นรัฐบาลต่อ เราก็จัดเก็บรายได้พลาดเป้าเหมือนเคย เช่นกัน การก่อหนี้สาธารณะของเราตั้งแต่หลังการรัฐประหาร โดยเฉพาะ พ.ศ.2563-2564 เป็นการก่อหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ใหม่ ไม่สร้างสินทรัพย์ใหม่ให้ประเทศ เป็นการกู้เงินเพื่อเอามาแจก โดยหวังผลทางการเมืองเป็นหลัก ต่างจากการก่อหนี้ของประเทศเจริญแล้ว ที่มักก่อหนี้เพื่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้ประชาชน ก่อหนี้เพื่อสร้างรายได้ใหม่ และสินทรัพย์ใหม่ให้ประเทศ
“นี่เป็นเหตุผลหลักว่าทำไมยอดขาดดุลงบประมาณชนเพดาน และการกู้เงินชนเพดาน จึงสะท้อนมหาวิกฤตทางการคลังของประเทศ รัฐบาลต้องเร่งปรับแผนการใช้เงิน กู้เงินมาแล้วต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่กู้มาตำน้ำพริกละลายแม่น้ำแบบที่ผ่านมาเมื่อคราว พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เมื่อปีก่อน หากรัฐไม่ทบทวนและไม่เร่งแก้ไข เราอาจต้องเข้าสู่ยุคตกต่ำที่สุดทางการคลังในประวัติศาสตร์ไทย” นายภัชริ ระบุ.