xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่ายค้านอัดไม่ต้องมีนายกฯถ้าไม่กล้าเอา ปชช.เป็นที่ตั้ง ฟื้นฟูหรือวิกฤตอยู่ที่การจัดงบ โวยหั่น สธ.- ศธ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฝ่ายค้านรุมยำไล่หั่นงบ สธ.-ศึกษาฯ ชี้ ปี 65 ไทยยังวนอยู่ในวิกฤตหรือเป็นปีแห่งการฟื้นฟู อยู่ที่การจัดงบ ซัด “บิ๊กตู่” อย่าอ้าง กม.วินัยคลังเพื่อหั่นงบช่วย ปชช. เย้ยไม่จำเป็นต้องมีนายกฯหากไม่กล้าตัดสินใจช่วงวิกฤตโดยเอา ปชช.เป็นที่ตั้ง

วันนี้ (31 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายในช่วงบ่าย ส.ส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ยังสลับกันขึ้นมาอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 โดย ส.ส.ฝ่ายค้านส่วนใหญ่ อภิปรายไปในแนวทางเดียวกัน โดยพุ่งเป้าไปที่การจัดทำงบประมาณแบบผิดฝาผิดตัว ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง โดยตัดลดงบประมาณด้านการสาธารณสุข การศึกษา สวัสดิการประชาชน แต่ไม่มุ่งเน้นเรื่องการแก้ปัญหาโควิด และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมถึงไม่เห็นด้วยกับการไปออกพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มขึ้น โดยไม่มีรายละเอียดการใช้จ่าย เหมือนการตีเช็กเปล่า

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 65 ว่า อนาคตของประเทศยังเหมือนเหรียญที่ลอยอยู่กลางอากาศ ออกหัวหรือออกก้อยได้สองทาง ถ้าเคราะห์ดี ภายในครึ่งปีแรกจะฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย สามารถเปิดประเทศและเปิดเมืองได้อีกครั้ง ช่วงครึ่งปีหลังก็จะเป็นช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูประเทศจากความบอบช้ำทางเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญมากว่า 2 ปี แต่หากเคราะห์ร้าย ตลอดปีหน้าทั้งปี เราจะยังคงวนเวียนอยู่กับวังวนของการแพร่ระบาดและการล็อกดาวน์ การกระจายวัคซีนที่สับสนอลหม่าน อาจจะทำให้เรายังไม่สามารถเปิดประเทศและเปิดเมืองได้ ปี 2565 จะเป็นปีแห่งวังวนของวิกฤติหรือเป็นปีแห่งการฟื้นฟู อยู่ที่การพิจารณางบประมาณของพวกเราในวันนี้

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เมื่อประเทศอยู่ในช่วงรอยต่อของการจบลงของโรคระบาด เราคาดหวังว่ารัฐบาลต้องอัดฉีดงบประมาณเพื่อปั๊มหัวใจ กระตุ้นชีพจรเศรษฐกิจ ฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้กลับมา แต่งบประมาณปี 65 แทนที่จะเพิ่มขึ้นกลับลดลง รัฐบาลอาจจะอ้างว่าวางกรอบงบประมาณสมเหตุสมผลแล้ว เพราะเก็บรายได้ลดลง กฎหมาย พ.ร.บ.หนี้สาธารณะก็เขียนล็อกไว้ให้ขาดดุลได้เท่านี้ แล้วก็กู้ชดเชยจนเต็มเพดานแล้วจะเอาอะไรอีก แต่รัฐบาลที่อ้างว่าตัวเองทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เอาหลังพิงกฎหมาย แล้วผลักภาระไปให้ประชาชน ปล่อยให้งบเป็นไปตามยถากรรม แล้วประชาชนต้องรับกรรมแบบนี้

“ถ้ารัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจในช่วงเวลาวิกฤตโดยเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ยอมแก้กฎหมายที่ไม่ยืดหยุ่นในยามวิกฤต ถ้าอย่างนั้นเอาข้าราชการมาบริหารประเทศก็ได้ เราจะมีนายกรัฐมนตรีกันไปทำไม ต้องมีรัฐมนตรีที่เหลือไว้ทำอะไร ซึ่งไม่ใช่ว่ารัฐบาลมองไม่เห็นปัญหาว่าเงินไม่พอใช้ ไม่อย่างนั้นจะยอมกลืนน้ำลายตัวเองออก พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 5 แสนล้านบาทไปทำไม”

น.ส.ศิริกัญญา อภิปรายว่า แทนที่รัฐบาลจะออกเป็นงบกลางปีที่มีรายละเอียดโครงการชัดเจน กลับเลือกทางที่จะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบและความรับผิด แล้วยังขอให้สภาและประชาชนเซ็นเช็คเปล่าให้อีกรอบ ทั้งที่การใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ในปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วถึงความล้มเหลว ถ้าจะให้งบปี 65 เป็นงบสำหรับฟื้นฟูประเทศได้ ต้องเริ่มแก้ไขโครงสร้างที่บิดเบี้ยวของงบประมาณที่มาจากกฎหมาย กฎระเบียบ และแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่รัฐบาลเขียนขึ้นมาเองแทบทั้งสิ้นนี้ก่อน

ส.ส.ก้าวไกล กล่าวว่า ในปี 2565 งบที่ถูกตัดลดลงไป 1.85 แสนล้านบาท แต่เงินที่จะลงไปถึงประชาชนจริงๆ น้อยลงไปยิ่งกว่านั้นเสียอีก เพราะต้องเอาเงินงบประมาณไปใช้หนี้ ที่ไม่ได้มีแค่หนี้สาธารณะ ต้องไปชดเชยภาระผูกพันต่างๆ ที่ได้สร้างไว้ก่อนหน้านี้ เปรียบเหมือนคนที่กำลังป่วยไข้ด้วยโรคในปัจจุบัน แต่รุมเร้าด้วยโรคประจำตัวที่เรื้อรังมานาน ไม่ว่าจะเป็นเงินที่ต้องใช้ให้เงินทุนสำรองจ่าย 2.4 หมื่นล้านบาท ช่วงก่อนออก พ.ร.ก.เงินกู้และมีงบกลางไม่เพียงพอ แต่ก็ไม่ได้ตั้งงบไปใช้คืนในปี 2564 จึงต้องมาใช้คืนในปีนี้ อีกโรคคือเงินสำหรับชำระหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น 4,000 ล้านบาท ภาระเงินชดเชยเงินคงคลังเพิ่มขึ้น 500 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการหมุนเงินไม่ทันในปี 63 และมีภาระค่าใช้จ่ายมาประจวบเหมาะในเวลานี้พอดี เช่น ค่าใช้จ่ายคดีข้อพิพาทระหว่างเชฟรอนและรัฐบาลไทย ที่ยื่นฟ้องไปที่อนุญาโตตุลาการ

“ก้อนถัดมาเป็นโรคเรื้อรัง คือ เงินใช้หนี้ที่รัฐบาลติดค้างหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ อย่าง ธกส. บสย. และออมสิน ยอดหนี้รวมตอนนี้คิดเป็น 970,000 ล้านบาท ยังดีมีการตั้งเพดานเอาไว้ว่าห้ามเกิน 30% ของงบ แต่ปีหน้างบลด กรอบก็จะลดลงตาม เรียกว่าถ้ายังเหนียวหนี้ต่อปีหน้าก็จะทะลุกรอบวินัยการเงินการคลังทันที จึงต้องตั้งงบจ่ายหนี้คืนแบงค์รัฐไว้อีกเกือบ 90,000 ล้าน เรื่องนี้ไม่ต้องมาแก้ตัวว่าใช้มาตั้งแต่รัฐบาลก่อน เพราะเห็นชื่อโครงการก็ใช้กันมาทุกรัฐบาล ตั้งแต่ประกันรายได้ปี 51/52 จำนำข้าว 54/55/56 ไปจนถึงโครงการจำนำยุ้งฉาง ในสมัยรัฐบาล คสช. เรียกว่าเหนียวหนี้กันมาทุกยุคทุกสมัยจนพอกพูนเป็นดินพอกหางหมู รายจ่ายเหล่านี้ไม่เคยมาปรากฏในงบประมาณ สภาไม่เคยได้พิจารณา เพราะสามารถหยิบยืมจากแบงค์รัฐได้โดยใช้มติ ครม.เท่านั้น”

น.ส.ศิริกัญญา ยังชี้ว่า โรคเรื้อรังอีกโรค คือรัฐราชการที่ใหญ่โตเทอะทะ ทำให้งบเบี้ยหวัด บำเน็จ บำนาญ เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการที่เพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นล้านบาท ทำให้เบ็ดเสร็จรวมแล้วค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเงินเดือนสวัสดิการข้าราชการ พนักงานและลูกจ้างรัฐ สูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 40% ของบประมาณ ถ้ายังไม่มีการแก้ปัญหาเรื่องนี้ งบประมาณจะยิ่งพอกพูนจนไปกินพื้นที่งบประมาณส่วนอื่น ทุกวันนี้งบสวัสดิการข้าราชการและครอบครัว 5 ล้านคน ก็แซงงบสวัสดิการสำหรับคนทั้งประเทศไปแล้ว และหากมองในภาพรวม งบประมาณที่หายไปจะมีไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้าน เพราะภาระในอดีตกับโครงสร้างที่บิดเบี้ยว
.
“เมื่อต้องเลือกตัดงบรายจ่ายลง แต่รัฐบาลไม่กล้าเผชิญหน้ากับรัฐราชการ ไม่กล้าตัดงบที่ลงตรงๆไปยัง กระทรวง กรม ต่างๆ เพราะงบพวกนี้ มีเจ้าที่คอยคุ้มครองแทบทั้งสิ้น งบที่รัฐบาลเลือกตัด ก้อนแรกคืองบสวัสดิการของประชาชน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองถูกตัดไป 2,000 ล้านบาท ประกันสังคมถูกตัดไป 19,000 ล้านบาท กองทุนสวัสดิการประชารัฐที่รัฐบาลเคยโฆษณาเอาไว้ว่าจะทำให้คนจนหมดประเทศถูกตัดงบไป 20,000 ล้านบาท การเคหะแห่งชาติและกองทุนการออมแห่งชาติถูกตัดงบไปครึ่งหนึ่ง ก้อนถัดมาที่รัฐบาลเลือกตัดก็คือเงินสำหรับฟื้นฟูประเทศหลังจากวิกฤติโควิด เลือกที่จะตัดงบประมาณด้านการศึกษาในปีนี้ไป 24,000 ล้านบาท ตัดงบกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม 5,000 ล้านบาท ตัดงบกองทุนส่งเสริม SME 40% ตัดงบประมาณแผนบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก 50% ตัดงบแผนบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 20% ยังไม่ต้องพูดถึง ว่ารัฐบาลไม่ได้ตั้งงบชดเชยความเสียหายให้ผู้ประกอบการที่ถูกสั่งปิด ที่ปิดมา 3 รอบยังไม่เคยได้เงินชดเชยแม้แต่บาทเดียว อย่ามาอ้างว่าให้ไปใช้งบฟื้นฟูจากเงินกู้ 500,000 ล้าน เพราะไม่มีอะไรการันตีเลยว่าจะทำได้จริง บทเรียนที่ผ่านมาของเงินกู้ 1 ล้านล้าน ที่ตั้งงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้าน พออนุมัติจริงกลับทำได้แค่แสนสามหมื่นล้าน หรือเบิกจ่ายจริงไม่ถึงครึ่ง รอบนี้ตั้งงบฟื้นฟูไว้แค่ 170,000 ล้าน จะเอาไปฟื้นฟูอะไรก็ยังไม่รู้ จะใช้จริงแค่ไหนก็ไม่รู้ บอกตรงๆ ว่าถ้าไม่ออกเป็นงบกลางปีแบบมีรายละเอียดยังไงก็ไม่ให้ผ่าน ให้ถอนออกจากสภาไปได้เลย”

สำหรับงบประมาณที่ไม่ถูกตัดหรือถูกตัดเพียงเล็กน้อยเพียง 4% คือรายจ่ายลงทุน สาเหตุมาจากปัญหากฎหมายวินัยการเงินการคลังที่รัฐบาลเขียนขึ้นมามัดมือตัวเอง ว่ารายจ่ายลงทุนจะต้องไม่น้อยกว่า 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และไม่น้อยกว่าวงเงินขาดดุลของงบประมาณในปีนั้นฟังเผินๆเหมือนจะดี เพราะกฎหมายนี้บอกว่า ถ้ารัฐบาลจะกู้ ต้องกู้มาลงทุนเท่านั้น แต่เรื่องนี้ดีเฉพาะเวลาปกติ พอมาเจอวิกฤตยิ่งทำให้งบประมาณไม่ยืดหยุ่น ไม่ตอบโจทย์ ไม่ตอบสนองต่อความต้องการประชาชน ในทางปฏิบัติแล้ว กฎหมายนี้มีปัญหาปัญหาแรกคือ การลงทุนกับคนผ่านการศึกษา การวิจัยและพัฒนา ไม่ถูกนับว่าเป็นรายจ่ายลงทุน จึงกลายเป็นเป้าที่ถูกตัดง่าย แต่ที่นับว่าเป็นรายจ่ายลงทุนก็คือ การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ก่อสร้างตึก อาคารสำนักงาน ซื้อโต๊ะ ซื้อตู้ ตัดถนน ปัญหาที่ตามมาคือ ในยามวิกฤติที่จัดเก็บภาษีได้น้อย ต้องจัดงบประมาณขาดดุลมากขึ้น คือต้องกู้มากขึ้น แต่พอมีข้อกำหนดว่ากู้มาเท่าไหร่ต้องใช้รายจ่ายลงทุนมากเท่านั้น แปลว่าพอยิ่งวิกฤติมาก รัฐบาลก็ต้องซื้ออาวุธเพิ่ม ต้องยิ่งก่อสร้างอาคารสำนักงานมากขึ้น รถ โต๊ะ ตู้ เตียง ตัดถนนมากขึ้น แบบนี้ขอให้ยอมรับว่าว่าไม่ใช่ทุกรายการจะเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตจริงๆ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฉบับนี้ จึงมีปัญหาควรต้องมีการแก้ไขให้ยืดหยุ่นในยามประเทศเผชิญวิกฤต รัฐบาลอย่าหลับหูหลับตากอดกฎหมายไว้กับตัว ไม่อย่างนั้นวิกฤตครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่นอน

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า นอกจาก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่มัดตัวเองแล้ว เวลาหน่วยงานราชการจะเขียนโครงการยังต้องเขียนให้ร้อยรัดเข้ากับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ,แผนแม่บท 23 แผน แผนแม่บทระดับย่อย แผนปฏิรูปประเทศอีก 11 ด้าน ทำให้ถึงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานจึงไม่ให้สามารถขยับปรับเปลี่ยนงบประมาณได้เลย ซึ่งรัฐบาลก็รู้ดีว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมีปัญหา เพราะพูดถึงโรคระบาดอยู่ 2 คำ แถมยังไปอยู่ในยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม หลังจากใช้แผนได้เพียง 3 ปี ก็มีการสั่งให้รื้อใหม่ สุดท้ายไม่ได้แก้อะไร แต่กลับคลอดมาเป็นแผนแม่บทเฉพาะกิจสำหรับวิกฤติโควิดขึ้นมาอีกเป็นแผนที่ 24 เหมือนมีเชือกมารัดคอเพิ่มขึ้นอีกเส้น ตัวแผนแม่บทเฉพาะกิจก็ฟังดูสวยหรู ดูดี พูดถึงเรื่อง ‘ล้มแล้วลุกไว’ มีการตั้งเป้าหมายเอาไว้ต่ำๆ แบบไม่มีวันพลาดเป้า แต่พลาดเป้าก็ไม่มีใครต้องรับผิดชอบอะไร ที่ตลกร้าย คือ ตามแผนแล้วจะมี 250 โครงการที่สภาพัฒน์ชี้เป้าเอาไว้ว่าสอดคล้องกับแผนแม่บทใหม่ แต่พอไปตามหา 250 โครงการนี้ ในงบ 65 จำนวนมากกลับหาไม่เจอ แสดงว่าถูกสำนักงบตัดไป ตกลงสองหน่วยงานไม่ได้คุยกันใช่หรือไม่ และถ้าจะทำแบบนี้จะมีแผนแม่บทเฉพาะกิจนี้ไปทำไม เสียทั้งเวลาและงบประมาณในการร่างแผน

“ถ้ารัฐบาลยังเอาหลังพิงกฎหมาย มัดมือมัดเท้าประชาชน มัดตราสังข์ประเทศ โยนความรับผิดของตัวเองออกจากตัว และเลือกโยนภาระมาให้ประชาชน ดิฉันก็ยังยืนยันว่าเอาข้าราชการมาบริหารประเทศแทนรัฐบาลได้เลย ไม่ต้องมีรัฐบาลก็ได้ ตราบใดที่ท่านไม่มีภาวะผู้นำในยามวิกฤต ไม่กล้าตัดสินใจทำเรื่องยากๆ ที่สุ่มเสี่ยงกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ประเทศไทยไม่มีวันที่จะพ้นจากวังวนของวิกฤติไปได้ ไม่มีวันที่จะฟื้นตัว ต่อให้วิกฤติโควิดหมดไปแล้ว ประเทศก็คงมีแผลเป็นทางเศรษฐกิจมากมาย ประเทศของเราจะยังคงติดอยู่ในเหวลึกไปอีกนานเท่านาน” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น