xs
xsm
sm
md
lg

ไทยรั้งตำแหน่งรอง ปธ.ผู้ตรวจฯโลก ย้ำปกป้องสิทธิ บริหารราชการที่ดีและหลักนิติธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปธ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน เผย ไทยรั้งตำแหน่งรอง ปธ.ผู้ตรวจการแผ่นดินโลก ย้ำบทบาทอำนาจองค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชน การบริหารราชการแผ่นดินที่ดี และหลักนิติธรรม

วันนี้ (27 พ.ค.) พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวภายหลังร่วมประชุม ระดับโลกของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ “12th IOI World Conference & General Assembly” ภายใต้ธีม “การให้โอกาสกับผู้ด้อยโอกาส” ผ่านระบบ Zoom พร้อมร่วมเสวนาเรื่อง"ชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ : Minority Ethnic Group and First People” ว่า

เดิมทีจะจัดขึ้นในต้นปี 2563 ณ กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ โดยมีกว่า 200 องค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินทั่วโลกเข้าร่วม แต่ด้วยเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนมาประชุมผ่านระบบ ZOOM ระหว่างวันที่ 26-27 พ.ค.นี้ หนึ่งในวาระสำคัญ คือ การรับรองผลการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ วาระปี ค.ศ. 2020-2024 ซึ่งในฐานะผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับความไว้วางใจและเชื่อถือจากสมาชิกทั่วโลกลงคะแนนเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองประธาน คนที่ 1 ของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ (International Ombudsman Institute หรือ IOI) นับเป็นความภาคภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนของคนไทยและคนเอเชียเพื่อแสดงศักยภาพในเวทีระดับนานาชาติ จากที่ผ่านมาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเหรัญญิกและกรรมการสถาบันระดับภูมิภาคเอเชีย มาแล้ว

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหาร IOI ชุดใหม่จะบริหารงานตามแผนยุทธศาสตร์ ปี 2021-2024 ซึ่งเป้าหมายสำคัญได้แก่ การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรแบบทวิภาคและพหุภาคีมากขึ้น สนับสนุนผู้ตรวจการแผ่นดินให้รอดพ้นจากภัยคุกคามการปรับรูปแบบการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินให้เข้ากับสภาพแวดล้อมแบบใหม่ หรือ New Normal โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ในการสื่อสารกับสาธารณะ ย้ำความสำคัญ บทบาทและอำนาจขององค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน การบริหารราชการแผ่นดินที่ดี และหลักนิติธรรม ให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล

อย่างไรก็ตาม การประชุมระดับโลกครั้งนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินไทยรับหน้าที่เป็นผู้นำการเสวนาในหัวข้อ “Giving voice to the voiceless-An Asia Pacific Perspective - การให้โอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาสผ่านมุมมองของเอเชียแปซิฟิก” ซึ่งก็ได้นำเสนอเรื่อง การแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19, การพัฒนาชีวิตและการคืนสถานะสัญชาติไทยให้แก่ประชาชนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์, การแก้ไขกรณีการเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากผู้ที่ได้รับบำนาญพิเศษ และได้มีโอกาสแลกเปลี่ยน แนวทางในการทำงานร่วมกับผู้แทน ของออสเตรเลีย และเกาหลีที่เป็นวิทยากรร่วม เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงการทำงานให้ตอบสนองกับสถานการณ์โลก โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างมากมาย มีทั้งคนที่สามารถเข้าถึงบริการจากภาครัฐและคนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงอย่างเท่าเทียม ถือเป็นความท้าทายขององค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินทั่วโลกที่จะยืนหยัดทำงานด้วยความอิสระ เป็นกลาง เป็นธรรม














กำลังโหลดความคิดเห็น