เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน เผย ขยายเวลา บุคลากร WFH ถึง 31 พ.ค. 64 ยันคงมีความพร้อมรับเรื่องร้องเรียนเช่นเคย สามารถร้องได้ตามช่องทางที่กำหนด
วันนี้ (13 พ.ค.) พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ได้ลงนามในประกาศสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ฉบับที่ 7) ขยายเวลาให้บุคลากรของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินปฏิบัติงาน ณ ที่พักอาศัยของตนเอง จนถึง 31 พ.ค. 64 โดยขณะนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทยได้ทวีความรุนแรงขึ้นอีก ด้วยเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่กำลังเผชิญอยู่นั้นเป็นเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งสามารถแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิมถึง 1.7 เท่า ทำให้ขณะนี้เกิดการระบาดของโรคอย่างรวดเร็ว พบยอดผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะการเริ่มตรวจเจอคลัสเตอร์ใหม่ตามแหล่งชุมชมที่มีผู้พักอาศัยหนาแน่นแออัดในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร เช่น ย่านคลองเตย ห้วยขวาง และบางแค ฯลฯ ซึ่งรัฐบาลได้ขอความร่วมมือหน่วยงานราชการให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ หรือ Work From Home เพื่อลดอัตราความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อดังกล่าว ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานของสำนักงานสอดคล้องกับสถานการณ์ คำนึงถึงคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของพนักงานและลูกจ้าง จึงออกประกาศให้ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการสถาบัน หัวหน้าหน่วย มอบหมายงานให้พนักงานและลูกจ้างในสังกัดเพื่อนำกลับไปปฏิบัติงานอย่างที่พักอาศัยของตนไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค. 64 และให้รายงานผลการดำเนินงานหรือความก้าวหน้าของงานต่อผู้บังคับบัญชาทุกสัปดาห์เป็นอย่างน้อยตามแบบฟอร์มรายงานการปฏิบัติงานจากที่พักอาศัย พร้อมสังเกตอาการของตนเองและผู้ใกล้ชิดด้วย หากมีภาวะเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวให้รีบพบแพทย์และแจ้งผู้บังคับบัญชาโดยเร็ว
พ.ต.ท.กีรป กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินยังมีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเหมือนเช่นเคย โดยท่านสามารถร้องเรียนผ่านช่องทางต่างๆ ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้อย่างง่ายดาย ทั้งทางสายด่วน 1676 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ), ทางไปรษณีย์ ส่งมาที่ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 5 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ หรือตู้ ปณ. 333 ปณฝ. ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กรุงเทพฯ 10215, เว็บไซต์ www.ombudsman.go.th หรือ www.ผู้ตรวจการแผ่นดิhttp://xn--q3c.com/ และสำหรับผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนร้องเรียนผ่านแอปพลิเคชัน “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ได้ทันที