โฆษก กมธ.ติดตามเงินกู้แก้ปัญหาโควิด-19 แนะรัฐบาลอย่ามัวยึดติดแต่การเติบโตของ GDP หลังออก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ควรเน้นเยียวยาให้ประชาชนและฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจริง
วันนี้ (26 พ.ค.) นายอัครเดช วงษ์ทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการติดตามตรวจสอบการใช้เงินกู้จากพ.ร.ก. 3 ฉบับเพื่อแก้ไขและฟื้นฟูปัญหา โควิด-19 ระบุเห็นด้วยที่รัฐบาลปรับลดวงเงินกู้ใน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากวงเงิน 7 แสนล้านบาท เหลือเพียง 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็น เพราะเงินกู้คือเงินที่จะต้องชำระคืน ซึ่งเป็นภาระเงินภาษีของประชาชนในอนาคต แต่ทั้งนี้ ไม่อยากให้รัฐบาลพิจารณาเฉพาะตัวเลข GDP ว่า เมื่อมีเงินกู้ก้อนนี้แล้ว GDP จะเติบโต 1.5% แต่อยากให้พิจารณาว่าเมื่อกู้มาแล้วจะสามารถช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนได้รับผลกระทบจริงหรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลเกิดการหลงทางได้ และที่ผ่านมาตัวเลข GDP ยังทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยว่าทำไม GDP โตขึ้น แต่ประชาชนยังลำบากอยู่
“เพราะที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องดูแต่ตัวเลข GDP ซึ่งที่ผ่านมา ตัวเลข GDP มันโต แต่เม็ดเงินมันไปกระจุกอยู่เฉพาะบางกลุ่มสาขาอาชีพ เช่น ผู้รับเหมาภาครัฐ ผู้ส่งออก แต่การบริโภคประชาชนไม่ได้เพิ่มขึ้น จึงไม่อยากให้รัฐบาลหลงทางว่ากู้เงินมาแล้วจะกระตุ้นให้ GDP โตอีก 1.5% ไม่อยากให้รัฐบาลไปมุ่งตรงนั้น แต่อยากให้รัฐบาลกู้มาแล้วเอาเงินมาใช้เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ และฟื้นฟูภาคธุรกิจที่มีปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด19โดยตรง จะดีกว่าไปดูตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะมันจะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณหลงทางได้” นายอัครเดช กล่าว