ทีมโฆษก ศบค. เผย อนุมัติ ร.ร.นานาชาติจัดสอบได้ทั้ง กทม.- ตจว. แต่ขอยึดมาตรการควบคุมโรค พบคนป่วยกลุ่มสีเหลืองยังปฏิเสธรอเตียง 27 จว.ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด กทม.ยังอันดับหนึ่ง รองลงมาเพชรบุรี-สมุทรปราการ พบคอนโดมิเนียม 81 ราย
วันนี้ (24 พ.ค.) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) แถลงว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กพูดถึงศูนย์บริหารจัดการข้อมูลและการส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 ว่า ในกรุงเทพฯ แล็บที่ตรวจเชื้อโควิด-19 ให้ประชาชนที่ไปตรวจเกิน 100 แห่ง และตรวจแล้วการที่จะโทรศัพท์มาติดต่อหาเตียง เราพยายามรวมศูนย์ข้อมูลให้เป็นที่เดียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้รับการขัดแยกระดับความรุนแรงรวมทั้งต่อให้อยู่ในสถานที่รักษาพยาบาล โดยระบบเรียกว่าโคลิงก์ ซึ่งเป็นการรวมศูนย์ที่เดียวจากทางแล็บของรัฐบาลและหรือเอกชน โดยผู้ที่ติดเชื้อจะได้รับกับการขัดแยกตามเกณฑ์ระดับความรุนแรง เพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม โดยมีการจัดการไปแล้วทั้งสิ้น 25,000 กว่าราย ซึ่งมีการจัดการเตียงในผู้ป่วยระดับสีแดงจะมีการส่งเข้าสู่กระบวนการรักษาในทันที สีเหลืองและสีเขียวส่งรักษาภายใน 48 ชั่วโมง แต่เรายังพบการปฎิเสธเข้าไปรับการรักษาตามโรงพยาบาลที่ได้รับการจัดสรร โดยในวันเดียวกันนี้พบว่า ตัวเลขสีเหลือง เป็นผู้สูงอายุ หรือผู้มีอาการเล็กน้อยปฏิเสธเตียงถึง 14 ราย กลุ่มสีเขียวที่อาจจะมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีอาการปฏิเสธเตียงปฏิเสธเตียง 31 ราย และมีสายโทรศัพท์ที่ติดต่อไม่ได้อีก 46 ราย และจากการเก็บสถิติพบว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ของกลุ่มคนระดับสีเขียวอาจจะกลายเป็นสีเหลืองได้จึงไม่ได้แปลว่าจะปลอดภัย
พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า โดยมีการพูดคุยกันว่าอะไรที่ทำให้ประชาชนปฏิเสธการรักษา พบว่า ผู้สูงอายุที่มีความกังวลว่าอาจจะต้องไปอยู่โรงพยาบาลสนามจะทำให้ลำบาก หรือมีบุคคลในครอบครัวที่รอดูผลการตรวจเชื้อก็จะเข้ารับการรักษาไปพร้อมกัน ดังนั้นจึงมีมาตรการให้ติดตามผู้ป่วยระหว่างรอเตียง หากท่านปฏิเสธอยู่เราก็จะมีกระบวนการติดตาม เน้นย้ำว่าไม่ได้สนับสนุนให้ใช้วิธีการกักตัวอยู่ที่บ้าน และรอเตียงอยู่ที่บ้าน เพราะอาจจะทำให้อาการทรุดหนัก
เมื่อถามถึงกรณีที่โรงเรียนนานาชาติขอให้มีการเปิดสอบวัดผลความสามารถของเด็กภายในเดือน มิ.ย. พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.อนุมัติให้กระทรวงศึกษาธิการ เสนอให้สามารถจัดสอบได้ ทั้งใน กทม.และในต่างจังหวัด แต่ขอความร่วมมือภายใต้มาตรการการควบคุมโรค ถ้าโรงเรียนหรือผู้ปกครองมีความสงสัยสามารถติดต่อหน่วยงานของกระทรวงศึกษาในระดับจังหวัดได้ทันที จึงขอให้ดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่ง ศบค.เข้าใจความห่วงใยของผู้ปกครอง
ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 แถลงว่า สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศรายใหม่วันที่ 24 พ.ค.จำนวน 10 อันดับ ประกอบด้ว ยกรุงเทพฯ 951 ราย เพชรบุรี 669 ราย สมุทรปราการ 180 ราย ชลบุรี 106 ราย นนทบุรี 92 ราย สมุทรสาคร 43 ราย ปทุมธานี 38 รายสงขลา 36 ราย ระนอง 30 ราย และนครปฐม 28 ราย สำหรับจังหวัดที่ไม่ที่พบผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์มีทั้งหมด 27 จังหวัด ประกอบด้วย ขอนแก่น พัทลุง พิษณุโลก ลำพูน กระบี่ ลำปาง อ่างทอง สุรินทร์ เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร นครพนม น่าน ชุมพร กาฬสินธุ์ พะเยา เลย แพร่ อุตรดิตถ์ ชัยนาท หนองคาย พังงาอำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน มุกดาหาร อุทัยธานี บึงกาฬ และ สตูล
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับการระบาดที่พบในจังหวัดที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ข้อมูล ณ วันที่ 23 พ.ค.ประกอบด้วย จังหวัดเพชรบุรี กระจายใน 8 อำเภอ พบผู้ป่วยรายใหม่ 644 ราย สถานที่เกิดการแพร่ระบาดโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีแรงงานสัญชาติไทย เมียนมา กัมพูชา อินเดีย และ จีน ส่วนจังหวัดชลบุรีกระจายในอำเภอเมืองชลบุรีและอำเภอพานทอง พบผู้ป่วยรายใหม่ 80 รายสถานที่เกิดการแพร่ระบาด ในโรงงานผลิตสายไฟมีแรงงานสัญชาติไทย กัมพูชา และ เมียนมา ส่วนจังหวัดปทุมธานีกระจายในจังหวัด พบผู้ป่วยรายใหม่ 14 ราย สถานที่เกิดการแพร่ระบาดตลาดสี่มุมเมือง ส่วนจังหวัดสมุทรปราการกระจายในเมืองสมุทรปราการ และอำเภอบางเสาธง 102 ราย สถานที่เกิดการแพร่ระบาด พบว่า ที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งที่เมืองสมุทรปราการ มีผู้ติดเชื้อ 81 ราย และในโรงงาน 3 แห่ง มีแรงงานสัญชาติไทย กัมพูชาและเมียนมา และจังหวัดระนองในอำเภอเมืองระนองพบผู้ป่วยรายใหม่ 31 ราย สถานที่เกิดการแพร่ระบาดใน ACF แรงงานเมียนมา ทำงานอยู่แพร่ปลา (ตลาดค้าอาหารทะเล)