ศบค. เผยตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่ม 3,052 ราย โดยแบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 2,447 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 605 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 24 ราย พบนอนนานสุด 41 วัน หลังพบเชื้อ คุมเข้มลักลอบเข้าชายแดน ตั้งศูนย์กักกันไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ชั้นในของประเทศ กทม. ปริมณฑล ผู้ป่วยยังคงสูง ซีลแคมป์คนงานก่อสร้างในวงจำกัด ส่วนตจว. ในเพชรบุรี เฝ้าระวังคลัสเตอร์โรงงาน
วันนี้ (22 พ.ค.) เวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,052 ราย โดยแบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 2,447 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 605 ราย พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 126,118 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 2,900 ราย สะสม 82,404 ราย กำลังรักษาอยู่ 42,955 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 17,734 ราย และโรงพยาบาลสนาม 25,221 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,216 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 409 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 24 ราย รวมเสียชีวิต 759 คน
ผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 3,052 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,924 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 482 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 605 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 41 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 24 ราย อยู่ใน กทม. 13 ราย สมุทรปราการ 3 ราย เชียงใหม่ ราชบุรี 2 ราย นนทุบุรี สุราษฎร์ธานี ยโสธร นครนายก จังหวัดละ 1 ราย โรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ยังเป็นปัจจัยหลักเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 จากการสัมผัสผู้ติดเชื้อที่เป็นคนในครอบครัว อายุค่ากลาง 64.5 ปี อายุน้อยสุด 31 ปี อายุมากสุด 96 ปี นอนนานที่สุด 41 วัน ระยะการครองเตียงยาวนานเพิ่มขึ้น
ผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศวันนี้มาจากกัมพูชา 35 ราย ผ่านด่านข้ามแดนถาวร (ทางบก) เข้ามาอย่างถูกต้อง โดยมีอาชีพเป็น แอดมินออนไลน์ พนักงานสถานบันเทิง แต่การลักลอบเข้าเมืองยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทางฝั่งเมียนมา , กัมพูชา รวม 24 ชม.นี้ พบลักลอบเข้ามารวม 191 ราย ขอให้ผู้ที่เข้ามาในประเทศมาอย่างถูกต้อง โดยทางกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนพร้อมเปิดสถานที่กักตัว 5 แห่ง และกำลังจะเปิดเพิ่มอีก เพื่อจับกุมและกักตัวผู้ที่ลับลอบเข้าเมือง ไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ชั้นในของประเทศ
10 อันดับ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ วันที่ 22 พ.ค. 2564 คือ 1. กรุงเทพมหานคร 1,191 ราย 2. เพชรบุรี 437 ราย 3. นนทบุรี 99 ราย 4. สมุทรปราการ 94 ราย 5. ชลบุรี 71 ราย 6. ปทุมธานี 68 ราย 7. สุมทรสาคร 49 ราย 8. ยะลา 43 ราย 9. ราชบุรี 29 ราย 10. 9าก สงขลา สุราษฎร์ธานี นครปฐม จังหวัดละ 20 ราย
แนวโน้มการติดเชื้อในพื้นที่ กทม. ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูง และกำลังจำกัดวงการแพร่ระบาดในคลัสเตอร์แคมป์คนงาน โดยเฉพาะพื้นที่ที่พบเชื้อสายพันธุ์อินเดีย พร้อมตรวจเชิงรุกต่อเนื่อง ขณะที่ต่างจังหวัด เริ่มมีการแพร่ระบาดที่มากขึ้น โดยมาจากคลัสเตอร์โรงงาน จ.เพชรบุรีที่มีการแพร่ระบาดในวงกว้างขึ้น จ.ปทุมธานี ยังคงพบในกลุ่มคลัสเตอร์ ตลาดสี่มุมเมือง แต่หลายพื้นที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้ว ส่วนการระบาดในพื้นที่กทม. ปริมณฑล ยังคงสูง พบ 1,521 ราย ส่วนในเรือนจำ ยังพบ 605 ราย
ทั้งนี้ พบ 20 จังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยเพิ่มในวันนี้ คือ นครสวรรค์, พิษณุโลก, ลำพูน, ลำปาง, เพชรบูรณ์, ตราด, สุโขทัย, กาฬสินธุ์, พะเยา, สิงห์บุรี, เลย, อุตรดิสถ์, แพร่, ชัยนาท, หนองคาย, พังงา, แม่ฮ่องสอน, อำนาจเจริญ, หนองบัวลำภู, มุกดาหาร
ขณะที่ยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. 64 เป็นต้นมา พบผู้ติดเชื้อแล้ว 97,255 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบในระบบเฝ้าระวังและบริการ 62,727 ราย ตรวจพบจากการค้นหาคัดกรองเชิงรุก 15,130 ราย เรือนจำ/ที่ต้องขัง 15,153 เดินทางมาจากต่างประเทศ 485 ราย หายป่วยสะสม 54,978 ราย เสียชีวิตสะสม 665 ราย
สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม 2564 เวลา 10.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 166,467,940 ราย อาการรุนแรง 98,169 ราย รักษาหายแล้ว 147,221,513 ราย เสียชีวิต 3,457,619 ราย
อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด
1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 33,862,398 ราย
2. อินเดีย จำนวน 26,285,069 ราย
3. บราซิล จำนวน 15,976,156 ราย
4. ฝรั่งเศส จำนวน 5,581,351 ราย
5. ตุรกี จำนวน 5,169,951 ราย
ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 90 จำนวน 126,118 ราย