มหาดไทยชี้ช่องท้องถิ่นจัดเก็บภาษีที่ดินสิ่งก่อสร้าง “สุสานสาธารณะ” พ่วง “ที่ฝังศพบรรพบุรุษ” เหตุ อปท.ยื่นตีความ ขอยกเว้นจัดเก็บภาษีตามคำจำกัดความ “สุสานสาธารณะหรือฌาปนสถานสาธารณะ” เผยต้องส่ง “บอร์ดวินิจฉัยภาษี ก.คลัง” พิจารณา หลังไม่เห็นด้วย กับแนวทางประเมินภาษีฯ กรณี “มิได้รับประโยชน์ตอบแทน”
วันนี้ (17 พ.ค. 64) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถือปฏิบัติตามแนวทางและการตีความข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ของฝ่ายกฎหมาย กระทรวงมหาดไทย
จากกรณีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ละหาร อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี หารือเกี่ยวกับการตีความข้อยกเว้นการเรียกเก็บภาษีราย “บางบัวทองมูลนิธิ” รวมทั้งข้อหารือแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการตีความคำจำกัดความของคำว่า “สุสานสาธารณะหรือฌาปนสถานสาธารณะ”
ข้อหารือดังกล่าว กระทรวงมหาดไทย “เห็นด้วย” กับการตีความของคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำ จ.นนทบุรี เฉพาะข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ เนื่องจากมาตรา 8 (7) แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ยกเว้นภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินของมูลนิธิหรือองค์การ หรือสถานสาธารณกุศล ลงวันที่ 21 มิ.ย. 62
ที่กำหนดให้ยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินของมูลนิธิหรือองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ตามรายชื่อที่กระทรวงการคลังประกาศกำหนดตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 3 (4) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 254) พ.ศ. 2535
“กรณี บางบัวทองมูลนิธิ ได้จดทะเบียนเป็นองค์กรสาธารณกุศล ตามหนังสือจดทะเบียนและข้อบังคับของบางบัวทองมูลนิธิ พ.ศ. 2548 ซึ่งข้อเท็จจริง "บางบัวทองมูลนิธิ" ไม่มีชื่อตามที่กระทรวงการคลังประกาศกำหนด ดังนั้น ทรัพย์สินของบางบัวทองมูลนิธิจึงไม่ได้รับยกเว้นการจัดเก็บภาษีตามมาตรา 8 (7) แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ”
อย่างไรก็ตาม กระทรวงมหาดไทย "ไม่เห็นด้วย" กับแนวทางการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของ อบต.ละหาร เนื่องจากมาตรา 8 (6) แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ กำหนดให้ทรัพย์สินที่ใช้เป็น "สุสานสาธารณะหรือฌาปนสถานสาธารณะ" โดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษี
ซึ่งจากคำชี้แจงของ "บางบัวทองมูลนิธิ" มีที่ดินจำนวน 2 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 8004 ใช้เพื่อเป็นสุสาน หมายถึงส่วนที่เป็นหลัก คือหลุมฝังศพ และพื้นที่ใช้สอยในการประกอบพิธีทางศาสนา เช่น อาคารประกอบพิธี อาคารที่พักของเจ้าหน้าที่ อาคารอำนวยการ อาคารโรงทาน ห้องนํ้า สระนํ้า และพื้นที่จอดรถ
และที่ดินโฉนดเลขที่ 170934 ใช้เพื่อเป็นที่จอดรถ และเพื่ออนุเคราะห์สงเคราะห์แก่ญาติของบรรพบุรุษและประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้ยากจน มีรายได้น้อยในการทำการเกษตร กรณีทรัพย์สินที่ใช้เป็นสุสาน จะได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีหรือไม่
“จึงต้องพิจารณาว่าเป็นสุสานสาธารณะที่มิได้รับประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ เนื่องจาก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ไม่ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “สุสานสาธารณะ” ไว้ จึงต้องพิจารณาตามความหมายทั่วไป ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2544 ได้ให้ความหมายของคำว่า “สุสาน” หมายถึง สถานที่สำหรับฝัง หรือเผาศพ และคำว่า “สาธารณะ” หมายถึง เพื่อประชาชนทั่วไป”
ดังนั้น ทรัพย์สินของบางบัวทองมูลนิธิ "เฉพาะในส่วนที่ใช้เป็นที่ฝังศพของประชาชนทั่วไป" โดยมีค่าใช้จ่ายและบำรุงดูแลรักษาในลักษณะของการบริจาคตามศรัทธาของแต่ละบุคคล จึงถือเป็น "สุสานสาธารณะ" ที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีตามมาตรา 8 (6) แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ
สำหรับทรัพย์สินที่ใช้เป็น "ที่ฝังศพของบรรพบุรุษและประกอบพิธีทางศาสนา" ใช้เป็นที่จอดรถและเป็นพื้นที่อนุเคราะห์สงเคราะห์แก่ญาติของบรรพบุรุษและประชาชนทั่วไป ที่ใช้ประกอบการเกษตร ไม่เข้าข่ายได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีต้องเสียภาษีตามประเภทการใช้ประโยชน์นั้น
เนื่องจากกระทรวงมหาดไทย "ไม่เห็นด้วย" กับคำปรึกษาหรือคำแนะนำนี้ ประกอบกับคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำ จ.นนทบุรี ได้หารือการตีความข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ
กระทรวงมหาดไทยจึงได้ส่งเรื่องพร้อมกับความเห็นไปยัง คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กระทรวงการคลัง เพื่อวินิจฉัยในกรณีดังกล่าวแล้ว