xs
xsm
sm
md
lg

รมช.ศธ.สั่งเดินหน้าโครงการอาชีวะเกษตรและประมง แจก 4 แสนข้าวกล่องปลอดสารทีมแพทย์-ปชช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษก เผย “คุณหญิงกัลยา” สั่งเดินหน้าโครงการ “อาชีวะเกษตรและประมง ห่วงใยประชาชน” จัดทำข้าวกล่องปลอดสารพิษ ดีลิเวอรี กว่า 4 แสนกล่อง แจกจ่ายแพทย์ พยาบาล และประชาชนทั่วประเทศ

วันนี้ (16 พ.ค.) นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ เป็นห่วงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันเป็นอย่างมาก จึงได้มอบนโยบายเร่งด่วนให้กับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติการอาชีวะเกษตรและประมงทั่วประเทศ 47 แห่ง เข้าช่วยเหลือและมอบอาหารปรุงสำเร็จแก่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 บุคลากรทางการเเพทย์ และประชาชนที่เดือดร้อนทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่วันที่ 17-31 พฤษภาคม 2564 นี้ โดยมีเป้าหมายมอบอาหารปรุงสำเร็จให้ประชาชนที่เดือดร้อนวิทยาลัยละ 500 กล่องต่อวัน โดยคาดว่าจะสามารถมอบอาหารปรุงสำเร็จช่วยประชาชนที่เดือดร้อนได้ไม่ต่ำกว่า 400,000 กล่อง ตลอดระยะเวลา 15 วัน ที่ได้ดำเนินโครงการ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน

“ในฐานะที่รับผิดชอบดูแลสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กำกับงานด้านอาชีวะเกษตร ได้เห็นถึงขีดความสามารถ ความพร้อมของคณะผู้บริหาร ครู บุคลากร และนักศึกษาของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมงทั่วประเทศ ซึ่งในแต่ละวิทยาลัยนั้น มีความสามารถในการผลิตพืชผักทางการเกษตรฯ ปลอดสารพิษ เลี้ยงสัตว์ ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป และผลผลิตอื่นๆ อีกมากมาย และมีคุณภาพ จึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ “อาชีวะเกษตรและประมง ห่วงใยประชาชน” ขึ้น เพื่อดูแล ช่วยเหลือ และเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แก่ ผู้ติดเชื้อโควิด-19, บุคลากรทางการเเพทย์ และประชาชนที่เดือดร้อนทั่วประเทศ”

นางดรุณวรรณ กล่าวว่า โครงการ “อาชีวะเกษตรและประมง ห่วงใยประชาชน” นี้ ได้มอบให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมงทั่วประเทศ จัดทำอาหารปรุงสำเร็จ และข้าวกล่องเดลิเวอรี่ เพื่อมอบตามกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้ 1. ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในโรงพยาบาลสนามในพื้นที่จังหวัดที่ตั้งของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมงนั้นๆ 2. บุคลากรทางการเเพทย์ของโรงพยาบาลที่ดูเเลผู้ป่วย COVID-19 ที่ใกล้เคียงวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมงตามบริบทที่เหมาะสม และ 3. ประชาชนที่ได้รับผลกระทบการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยจะเน้นชุมชนในเมืองในเบื้องต้น จากนั้นจะประสานผ่านเทศบาล หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อมอบความช่วยเหลือต่อไป

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ คุณหญิงกัลยา ได้สั่งการให้สถานศึกษาในกำกับทุกแห่งปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และให้สถานศึกษาในกำกับจัดเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับเป็นโรงพยาบาลสนามได้หากมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น และโรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอ เพื่อเป็นที่พักสำหรับการสังเกตอาการผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย เพื่อป้องกันการระบาดสู่บุคคลภายนอกและชุมชน รวมถึงเป็นผู้ริเริ่มให้มีการฉีดวัคซีนครู และได้เสนอ ครม.เมื่อครั้งรักษาราชการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น