“สุชาติ” รองประธานสภาฯ คนที่ 1 รับเรื่องเครือข่ายวิชาชีพครู จ.ฉะเชิงเทรา คัดค้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ชี้มีหลายส่วนบกพร่อง หวั่นกระทบประสิทธิภาพระบบการศึกษา เสนอแก้ไขเพิ่มเติม 7 ประเด็นเพื่อความสมบูรณ์ของ กม.
เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 64 ที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 รับยื่นหนังสือจาก นายวรพจน์ สิงหราช ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา พร้อมด้วยผู้แทน ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และประถมศึกษา ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อคัดค้าน และเสนอแนะแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ฉบับที่ผ่านสำนักงานกฤษฎีกา เนื่องจากพบว่ามีบทบัญญัติบางประการที่เป็นส่วนดีสามารถนำไปเป็นเครื่องมือยกระดับคุณภาพการศึกษาของชาติได้จริงและมีประสิทธิภาพ แต่ยังมีหลายๆ ส่วนที่บกพร่องและยังไม่สอดคล้องกับระบบการจัดการศึกษาและการเปลี่ยนแปลงไปของโลก และยังไม่ครอบคลุมที่เป็นหลักประกันให้การดำเนินการจัดการศึกษาของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกขับเคลื่อนส่งเสริมภารกิจให้ประสบความสำเร็จ
นายวรพจน์เปิดเผยว่า เครือข่ายวิชาชีพครูไทยและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา ได้ร่วมกันประชุมหารือ ศึกษาวิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างละเอียด โดยไม่เห็นด้วยที่จะนำร่างกฎหมายฉบับนี้มาประกาศใช้ หากจะนำมาใช้ควรมีการแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ร่างกฎหมายนี้ทรงคุณค่า เป็นเครื่องมือ และเป็นแม่บทที่ใช้ในการกำหนดทิศทางการศึกษาไทยให้มีความสมบูรณ์ เป็นรูปธรรม มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้ได้จริง เพื่อคุณภาพของลูกหลานคนไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต
นายวรพจน์กล่าวต่อว่า เครือข่ายวิชาชีพครู จ.ฉะเชิงเทรา ขอคัดค้าน และขอเสนอให้แก้ไขร่าง พ.ร.บ. ใน 7 ประเด็น คือ 1. ให้มีหลักประกันความสำคัญของวิชาชีพครู ให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง, 2. บทบัญญัติให้ครอบคลุมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับภารกิจการจัดการศึกษา, 3. ให้มีบทบัญญัติวิชาชีพทางการศึกษา ให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงและคงไว้ซึ่งใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ, 4. ให้มีกฎหมายว่าด้วยเงินเดือน เงินวิทยฐานะ เงินประจำตำแหน่ง และเงินค่าตอบแทนอื่นที่ครอบคลุมตำแหน่งบุคลากรทุกตำแหน่งอย่างเท่าเทียม, 5. ให้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารราชการ, 6. เปิดโอกาสให้ครู และบุคลากรทางการศึกษามีส่วนร่วมในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการศึกษาแห่งชาติ และ 7. สถานศึกษาของรัฐมีผู้บริหารสถานศึกษาและผู้ช่วยผู้บริหารสถานศึกษาเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
“ข้อเสนอเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการบริหารจัดการการศึกษาให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายวรพจน์กล่าว
ด้านนายสุชาติกล่าวว่า ส่วนตัวมีความเข้าใจในข้อห่วงใยและข้อเสนอแนะของเครือข่ายวิชาชีพครู ตลอดจนเข้าใจถึงความสำคัญของวิชาชีพครูที่มีต่อคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนของชาติ โดยจะนำข้อเสนอและปัญหาต่างๆ ประสานไปยังรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดกับทุกฝ่าย
ทั้งนี้ ผู้แทน ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และประถมศึกษาในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ประกอบด้วย นายวรพจน์ สิงหราช ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา, นายเอกวัฒน์ ล้อสุนิรันดร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 ประธานที่ปรึกษาประธานกลุ่ม ผู้อำนวยการสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1, นายทวีสิทธิ์ มั่นจิต ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 2 ผู้แทน ผู้บริหารโรงเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ฉะเชิงเทรา เขต 2
นางเจือศรี พูนพิพัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รุ่นเพชรวังรี 62, นายวนิชชัย แก่นภมร ผู้อำนวยการโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 3 ประธานสาขาสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย ประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา, นางปนัดดา มักสัมพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนดัดดรุณี ประธานเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการมัธยมศึกษาจังหวัดฉะเชิงเทรา และนายกมล วุ่นหนู นายกสมาคมครูและบุคลากรทางการศึกษาอำเภอพนมสารคาม