xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ร้องนายกฯ ทบทวนแผนบูรณาการสู้โควิด-19 ให้ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยร่วมสู้เคียงบ่าเคียงไหล่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รสนา” ตั้งคำถาม เหตุใดนายกฯ ไม่บูรณาการภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เรียกร้องทบทวนนโยบายและแผนงานด้านการแพทย์-สาธารณสุข สู้กับสถานการณ์โควิด-19 ให้ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกมีส่วนร่วมอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่
วันนี้ (9 พ.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และผู้เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแฟนเพจ รสนา โตสิตระกูล ในหัวข้อ เหตุใดนายกฯ ไทยไม่บูรณาการภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทย ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีรายละเอียดว่า
ข่าวว่านายกฯ ไทยประกาศตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะกิจเพื่อบูรณาการการแพทย์ การสาธารณสุขไทยในช่วงโควิด-19 ยกเว้นการใช้ภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยเข้ามาแก้ไขปัญหา การไม่ให้อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เข้ามาเกี่ยวข้องกับคณะกรรมการชุดนี้เลย เห็นได้ชัดเจนว่าขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในรัชกาลปัจจุบัน


ดิฉันขอน้อมเกล้าอัญเชิญกลอนพระราชนิพนธ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ดังนี้

สมุนไพร ไทยนี้ มีค่ามาก
พระเจ้าอยู่หัว ทรงฝาก ให้รักษา
แต่ปู่ย่า ตายาย ใช้กันมา
ควรลูกหลาน รู้รักษา ใช้สืบไป
เป็นเอกลักษณ์ ของชาติ ควรศึกษา
วิจัยยา ประยุกต์ใช้ ให้เหมาะสมัย
รู้ประโยชน์ รู้คุณโทษ สมุนไพร
เพื่อคนไทย อยู่รอด ตลอดกาล

กลอนพระราชนิพนธ์ดังกล่าว ย่อมเป็นเครื่องแสดงพระราชปณิธานแห่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นอย่างดีว่าทรงเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาสมุนไพรไทยในระบบความมั่นคงด้านยาของประเทศ ดังทรงพระราชทานศูนย์การศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อนแห่งชาติ เขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา มาตั้งแต่ พ.ศ. 2523 เพื่อให้ศูนย์แห่งนี้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านสมุนไพรและพัฒนานำไปใช้เพื่อการรักษาและป้องกัน ส่งเสริมสุขภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง ดังข้อความในศิลาจารึก ด้านที่ 1 ณ สวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ว่า

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงมีพระราชดำริว่าสมุนไพรอันเกิดในพระราชอาณาเขต มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคอย่างวิเศษมาแต่โบราณกาลนั้นนับวันจะลดน้อยถอยลงตามลำดับ เพราะขาดผู้อุปถัมภ์บำรุง ศึกษาให้ชัดเจน มิได้เป็นกาลต่อเนื่องแต่กาลก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พื้นที่เขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จัดทำเป็นโครงการสวนป่าสมุนไพร”

ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 จึงได้มีพิธีการเปิดศูนย์แห่งนี้อย่างเป็นทางการโดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ดังข้อความในศิลาจารึกด้านที่ 2 ว่า

“วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2525 ตรงกับวันพุธขึ้น 7 ค่ำ เดือน 10 ปีจอ ร.ศ. 201 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงวางศิลาฤกษ์ สร้างการศิลาจารึก ณ โครงการสวนป่าสมุนไพร ศูนย์การศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อนแห่งนี้”

เหนืออื่นใดกลอนพระราชนิพนธ์ดังกล่าว เป็นการแสดงพระราชวิสัยทัศน์อันลึกซึ้งและยาวไกลของสถาบันประมุขแห่งราชอาณาจักรไทยในการ “ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด” ซึ่งปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยภายใต้พระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ดังนี้

“มาตรา ๕๕ รัฐต้องดําเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค และส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด

บริการสาธารณสุขตามวรรคหนึ่ง ต้องครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุม และป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพด้วย

รัฐต้องพัฒนาการบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”


ใจความสำคัญของมาตรานี้ ระบุชัดเจนว่า ให้รัฐ “ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด” ตรงนี้ขอขีดเส้นใต้คำว่า “ให้เกิดประโยชน์สูงสุด” ซึ่งไม่ใช่สนับสนุนอย่างขอไปที ดังที่เป็นอยู่ในเวลานี้ และในวรรคหนึ่งของมาตรานี้ ยังระบุไว้ด้วยว่ารัฐต้อง “เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค” โดยเฉพาะในยามวิกฤตโรคระบาดขณะนี้ การติดอาวุธทางความรู้ ความเข้าใจขั้นพื้นฐานด้านส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคให้แก่ประชาชนทั้งตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและตามความรู้ด้านสุขภาพแผนตะวันตก เป็นสิ่งสำคัญยิ่งโดยรัฐบาลต้องเร่งจัดทำเป็นนโยบายและแนวทางปฏิบัติแบบบูรณาการทั้งการแพทย์แผนตะวันตกกับการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อขับเคลื่อนระบบสุขภาพแบบพหุลักษณ์ของไทยทั้งที่มีอยู่ในองค์กรภาครัฐเองและในองค์กรภาคประชาสังคมด้านสุขภาพ ในการต่อสู้กับภัยพิบัติทางสุขภาพอันใหญ่หลวงของสังคมไทยซึ่งทุกฝ่ายต้องทำงานในเชิงรุกร่วมกัน

และถ้ากลับยังหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ในมาตรา ๕๑ บัญญัติว่า “การใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐตามหมวดนี้ ถ้าการนั้น เป็นการทําเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยตรง ย่อมเป็นสิทธิของประชาชนและชุมชนที่จะติดตาม และเร่งรัดให้รัฐดําเนินการ รวมตลอดทั้งฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดให้ประชาชน หรือชุมชนได้รับประโยชน์นั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ”

ดิฉันจึงเรียนมายังท่านนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ทบทวนนโยบายและแผนงานด้านการแพทย์-สาธารณสุขในการเผชิญหน้ากับสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกที่มีมาตรฐานทางความรู้และประสบการณ์การใช้จริงเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ในการกอบกู้ประเทศไทยให้พ้นจากมหันตภัยโรคระบาดในคราวนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น