โฆษกรัฐบาลย้ำห้าม รพ.เอกชน-รัฐเรียกเก็บค่ารักษาโควิดเด็ดขาด พบฝ่าฝืนดำเนินคดีตามกม. ระบุ ปชช.ได้รับผลข้างเคียงฉีดวัคซีนยื่นขอรับเงินชดเชยจาก สปสช. ชี้ รพ.บุษราคัม ขยายเตียงรองรับถึง 5,000 เตียง พ.ค.ซิโนแวคเข้าไทยอีกรวม 3.5 ล้านโดส
วันนี้ (12 พ.ค.) เวลา 14.30 น. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น สำหรับการฉีดวัคซีนจะมีการฉีดเพิ่มเติมให้บุคลากรส่วนอื่น โดยได้มีการประสานกับภาคเอกชน ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์กรอื่นๆ เพื่อเตรียมให้คนที่ทำงานที่มีความเสี่ยงได้รับการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม ซึ่งเป็นผู้ที่มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางบ่อย หรือกลุ่มคนทำงานผู้ที่ต้องพบปะผู้คนมากๆ เช่น พนักงานส่งของ พนักงานขับรถสาธารณะ พนักงานร้านสะดวกซื้อ ผู้ให้บริการในร้านอาหารพนักงานในภาคการท่องเที่ยวและโรงแรม เป็นต้น โดยในเดือน มิ.ย.จะปูพรมระดมฉีดวัคซีนเข็มแรก ซึ่งจะเปิดให้องค์กรต่างๆ จัดสรรพนักงานที่มีความเสี่ยงทยอยเข้ารับการฉีดวัคซีน
ในส่วนของกรุงเทพมหานครจะมีการจัดตั้ง 14 ศูนย์พร้อมที่จะให้บริการในเดือน มิ.ย.ให้คนไทยที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และจะเพิ่มขึ้นเป็น 25 ศูนย์ในเร็วๆ นี้ สิ่งสำคัญคือจะมีการเร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มคนทำงานที่มีความเสี่ยงนอกเหนือจากผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 โรคเรื้อรัง เพื่อลดการแพร่ระบาดและฟื้นฟูเศรษฐกิจ
นายอนุชากล่าวว่า ส่วนการจัดหาวัคซีนจะมีเข้ามาอีกในเดือน พ.ค. ของบริษัทซิโนแวค จำนวน 3 ล้าน 5 แสนโดส โดยในวันที่ 6 พ.ค. 1 ล้านโดส วันที่ 14 พ.ค. 5 แสนโดส และสิ้นเดือน พ.ค.อีก 2 ล้านโดส ส่วนในเดือน มิ.ย.อีก 6 ล้านโดส ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า จากนั้นในแต่ละเดือนจะได้รับเพิ่มเติมอย่างน้อยเดือนละ 10 ล้านโดสอย่างต่อเนื่อง และยังมีการเจรจากับผู้ผลิตรายอื่นไม่ว่าจะเป็นของไฟเซอร์ สปุตนิกวี หรือจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน โดยรัฐบาลตั้งเป้าจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมจากเดิมตั้งเป้าไว้ให้ได้ 100 ล้านโดส ตอนนี้มีความตั้งใจจะจัดหามาให้ครบ 150 ล้านโดสภายในปี 2564 ขณะที่การรักษาประชาชนผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 รัฐบาลให้ความมั่นใจว่าจะดูแลทุกท่าน โดยในเรื่องค่าใช้จ่ายจะไม่ให้โรงพยาบาลเรียกเก็บจากผู้ติดเชื้อ ยืนยันว่ารัฐบาลจะดูแลค่ารักษาพยาบาลออกค่าใช้จ่ายให้ประชาชนทุกคนตามสิทธิ์ ตั้งแต่การตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงการรับวัคซีน การชดเชยกรณีได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน และการรักษาพยาบาล ทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชนด้วย หรืออุดหนุนค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลเอกชนดำเนินการอยู่ โดยเพิ่มให้อีกร้อยละ 25 เปอร์เซ็นต์ในทุกรายการที่สามารถเบิกจ่ายได้และหากมีประกันส่วนบุคคลโรงพยาบาลจะเรียกเก็บจากส่วนของบุคคลก่อน แต่ที่เหลือจะให้เรียกเก็บจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ย้ำว่าห้ามโรงพยาบาลเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากประชาชนเป็นอันขาด หากพบว่ามีการฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย
นายอนุชากล่าวต่อว่า ส่วนหากฉีดวัคซีนแล้วได้รับผลกระทบเสียหาย บาดเจ็บ มีผลข้างเคียงต่างๆ หรือเสียชีวิต สามารถยื่นขอรับเงินได้จาก สปสช.ด้วย ขณะที่ความคืบหน้าโรงพยาบาลบุษราคัม เมืองทองธานีนั้น มีจำนวนเตียง 1,092 เตียง และสามารถขยายในเฟสที่ 2 และเฟสที่ 3 ได้อีก 1,000 กว่าเตียง แต่หากมีความจำเป็นสามารถขยายเตียงได้มากอีกถึง 5,000 เตียง ช่วยลดปริมาณผู้ป่วยติดเชื้อในกรุงเทพฯ และปริมณฑล