xs
xsm
sm
md
lg

ดุสิตโพลชี้ส่วนใหญ่คิดว่าอยู่กลุ่มปกติ วิตกเพิ่มตามข่าวโควิด พึ่งมาสก์ให้รอดไม่ไปที่เสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวนดุสิตโพลสำรวจคนไทยกับการเอาชนะโควิด ส่วนใหญ่คิดว่าตนอยู่ในกลุ่มปกติ วิตกกังวลเพิ่มเมื่อติดตามข่าวสาร ตั้งแต่ระบาดใช้จ่ายซื้อหน้ากากมากที่สุดเพราะมองว่าการใส่แล้วจะรอด รับมือโดยการไม่ไปที่เสี่ยง

วันนี้ (9 พ.ค.) สรุปผลการสำรวจ : คนไทยกับการเอาชนะโควิด-19 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “คนไทยกับการเอาชนะโควิด-19” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,894 คน สำรวจวันที่ 3-7 พฤษภาคม 2564 พบว่า ประชาชนคิดว่าตนเองอยู่ในกลุ่มปกติทั่วไป ร้อยละ 41.55 รองลงมาคืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ร้อยละ 22.18 เมื่อติดตามข่าวรู้สึกวิตกกังวลและเครียดมากขึ้น ร้อยละ 46.04 ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 หมดค่าใช้จ่ายไปกับหน้ากากอนามัยมากที่สุด ร้อยละ 83.94 โดยจะรับมือด้วยการไม่ไปในที่เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ร้อยละ 83.32 และจะใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง ร้อยละ 92.12

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า จากความวิตกกังวลของคนไทยที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข่าวสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น รวมถึงการรับมือของรัฐบาลที่ค่อนข้างล่าช้า ประชาชนจึงต้องพึ่งตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากอนามัย ไม่ไปในที่เสี่ยงและล้างมือบ่อยๆ นอกจากนี้ผลโพลยังพบว่ามีผู้ที่ตอบว่าสิ่งที่จะทำให้อยู่รอดจากโควิด-19 คือ การฉีดวัคซีนมีเพียงร้อยละ 45.24 เท่านั้น นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลต้องเร่งสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นการเอาชนะโควิด-19 คงเป็นเรื่องยากอย่างแน่นอน

ด้าน อาจารย์นิรัตน์ชฎา ไชยงาม อาจารย์ประจำสาขาการพยาบาล มารดา ทารกและการผดุงครรภ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยว่า โควิด-19 เป็นโรคที่ทำลายวิถีชีวิตการเป็นสัตว์สังคมของมนุษย์ไปโดยสิ้นเชิง จากผลโพลจะเห็นว่าการระบาดในระลอกที่ 3 นี้ประชาชนมีความเข้าใจและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัดเมื่อไปในที่สาธารณะ แต่ขณะอยู่บ้านยังละเลยกันอยู่มากเนื่องจากคิดว่าเป็นสถานที่ปลอดภัย จึงพบการติดเชื้อภายในครอบครัวมากขึ้น ทำให้ประชาชนที่ติดตามข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดส่วนใหญ่เกิดความเครียดและความวิตกกังวล เนื่องจากแนวโน้มผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ในทางกลับกันมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นการตรวจวินิจฉัย และการรับผู้ป่วยเข้ารักษายังมีความล่าช้า อีกทั้งบุคลากรทางการแพทย์และทรัพยากรมีจำกัด ทางรอดของสถานการณ์โควิด-19 ในครั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ประชาชนต้องดูแลตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มอ่อนไหว เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ภาครัฐต้องมีมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาอย่างชัดเจน รวดเร็วและรัดกุม อีกทั้งต้องจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ หลากหลาย ให้แก่ประชาชนโดยเร็วที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น