“ปวิน” ไม่ยอมตกขบวนไล่อนุทิน ยกสปิริต รมต.ญี่ปุ่น ข่ม “#Save เสี่ยหนู” ติดอับดับ 1 ทวิตเตอร์ “หมอไม่ทน” ล่าชื่อได้กว่า 1.6 แสน “ก้าวไกล” แถลงการณ์ “ถล่ม” ตามน้ำ “เจ้าตัว” ลั่น “หมอที่ไหนไม่ทน แต่หมอ สธ.ยังทนร่วมมือกับผมดี”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (26 เม.ย. 64) ทวิตเตอร์ Pavin
@PavinKyoto ของ นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ผู้ลี้ภัย คดี 112 ในญี่ปุ่น ทวีตข้อความ ระบุว่า
“ในประเทศอย่างญี่ปุ่น ถ้า รมต สาธารณสุข ทำงานได้เละขนาดนี้ เค้าไม่รอให้คนไล่ แต่เค้าชิงลาออกเอง เพื่อแสดงความรับผิดชอบ แต่คนอย่างอนุทิน อย่าหวังว่าจะรับผิดชอบ นี่ยังพูดโอ้อวดรายวันว่าตัวเองมีความสามารถ คือ ยังดูถูกประชาชนไม่เลิก ความซวยของคนไทยที่ดันมี รมต โง่ๆ ในช่วงที่เกิดโรคระบาด”
ขณะเดียวกัน กระแสบนโลกโซเชียลเพียงข้ามคืน ที่มีกรณีเพจเฟซบุ๊กโรงพยาบาลหลายแห่ง โพสต์ข้อความให้กำลังใจ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมติดแฮชแท็ก #ทองแท้ไม่กลัวไฟ #Saveอนุทิน
โดยเฉพาะแฮชแท็ก #Saveอนุทิน นั้น ได้ทะยานขึ้นติดอันดับ 1 เทรนทวิตเตอร์ทันที โดยพุ่งขึ้นสูงสุด และ #ทองแท้ไม่กลัวไฟ ตามมาติดๆ เป็นอันดับ 4
ด้าน แคมเปญล่ารายชื่อเรียกร้องให้ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ลาออกจากตำแหน่ง ของกลุ่ม “หมอไม่ทน” เพื่อให้ผู้ที่มีความสามารถ มีความเหมาะสมมากกว่าเข้ามารับตำแหน่ง เนื่องจากล้มเหลวในการควบคุมดูแลการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น
ปรากฏว่า วันนี้ (26 เม.ย. 64) เมื่อเวลา 11.20 น. ยอดผู้ลงชื่อร่วมสนับสนุนการ “ไล่อนุทิน” ผ่าน www.change.org รวม 159,560 ชื่อแล้ว (สยามรัฐออนไลน์)
ต่อมา www.Change.org ระบุว่า ยอดผู้ลงชื่อเรียกร้องให้นายอนุทิน ลาออก อยู่ที่ 162,009 คน โดยตั้งเป้าให้ถึง 2 แสนคน
โดยแคมเปญดังกล่าว เกิดจากผู้ใช้ชื่อ “หมอไม่ทน” โดยระบุว่า กว่า 1 ปีเต็มที่ผ่านมาของการระบาดโควิด-19 เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า นายอนุทิน ไม่มีความสามารถมากพอในการควบคุมดูแลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งเรื่องการวางนโยบาย การจัดการทรัพยากร การจัดหาวัคซีน และการสร้างความเชื่อมั่นให้บุคลากรทางการแพทย์
นอกเหนือไปกว่านั้น หลายครั้งบทสัมภาษณ์จากนายอนุทิน ยังทำให้เห็นชัดเจนว่า ไม่มีวิสัยทัศน์ที่เหมาะสมในการทำงานควบคุมกระทรวงที่เป็นกระทรวงหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่การระบาดไม่สามารถควบคุมได้
ส่วน นายอนุทิน กล่าวถึงกรณีกลุ่ม “หมอไม่ทน” ตั้งแคมเปญผ่านเว็บไซต์ change.org ล่ารายชื่อให้ลาออกว่า
“วันนี้หมอทุกคนในกระทรวงสาธารณสุขที่ทำงานร่วมกันยังทนได้อยู่ ไม่เห็นมีใครออกมาบอกว่า ไม่ทน ที่ผ่านมา เจอลักษณะนี้หลายครั้ง ไม่เคยเสียกำลังใจ และจะเดินหน้าต่อไป
“ผมทำงานอยู่ไม่เป็นไร ผมก็ทน ผมคิดว่า ผมยังทำงานกับหมอได้ หมอที่ไหนไม่ทน แต่หมอกระทรวงสาธารณสุขยังทนทำงานอยู่ และก็ยังให้ความร่วมมือกับผมดีอยู่ ผมทำงาน ผมไม่มีปัญหา ผมบอกตัวผมเองว่า ผมกำลังทำงาน ใครชมผม ผมก็ฟัง ใครว่าผม ผมก็ฟัง หลายๆ คนว่ามาแล้วฟังเข้าท่า ก็ไปทำตาม แต่ผมก็ต้องชมตัวผมเอง ผมว่าผมก็ยังทำงานได้อยู่ ผมก็ทำต่อไป ตอนเข้า ผมก็ขอเขามาที่นี่ ถ้าจะไปผมก็ขอไปด้วยตัวเอง ไม่ต้องห่วงหรอกครับ ถ้ามันไม่ไหวผมไม่อยู่หรอก”
นอกจากนี้ สำหรับพรรคการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวตามกระแส พบว่า พรรคก้าวไกล ออกแถลงข้อเสนอต่อการรับมือสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 โดยเสนอแนวทางในการรับมือไว้หลายมาตรการและมาตรการเยียวยา ก่อนระบุว่า
พรรคก้าวไกล ขอยืนยันว่า รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของนายอนุทิน บกพร่องต่อหน้าที่ ล้มเหลวในการจัดการสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 มามากพอแล้ว ประชาชนไม่อาจแบกรับกับหายนะที่รัฐบาลนี้ ก่อขึ้นได้อีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ พรรคก้าวไกล จึงขอเรียกร้องให้นายอนุทิน จงมีมโนสำนึกในความผิดของตน ที่ได้ก่อกรรมทำเข็ญเอาไว้กับประชาชนได้แล้ว และตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งโดยทันที และขอให้รัฐบาลเร่งพิจารณาข้อเสนอแนะของพรรคก้าวไกล และนำไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
รวมถึง นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวเช่นกันว่า รัฐบาลทำสถิติโควิดนิวไฮทุกวัน โดยไม่มีท่าทีว่าจำนวนผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิดจะลดลง ในขณะที่เกิดกระแสเรียกร้องให้นายอนุทินลาออก รวมทั้งกรณีมีภาพหลุดคนหน้าคล้ายรัฐมนตรีในลักษณะไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะลอยตัวเหนือปัญหา หรือโยนเผือกร้อนให้คนอื่นตัดสินใจแทนทุกเรื่องไม่ได้ การเกิดวิกฤตศรัทธาอย่างหนักในครั้งนี้ พุ่งเข้าใส่รัฐบาลเต็มๆ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเร่งตัดสินใจและแก้ไขปัญหาก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
“ระหว่างขับภูมิใจไทยออก กับรอให้ถอนตัว สิ่งใดจะเกิดขึ้นก่อน หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จะลาออก เพื่อเปิดทางให้คนที่มีความพร้อมเข้ามาแก้ไขปัญหาแทน” นายอนุสรณ์ กล่าว
ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก “คนภูมิใจไทย” ได้นำเสนอข้อมูลชี้แจง 12 ข้อดีในการทำงานของนายอนุทิน อาทิ จัดหาวัคซีนซิโนแวค 2 ล้านโดส และเพิ่มอีก 5 ล้านโดส มาให้ประชาชน ก่อนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามาถึงไทย, จัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส มาให้ประชาชน เริ่มต้นฉีดเดือน มิ.ย., จัดหายาต้านไวรัสให้ผู้ป่วยมากกว่า 5 ล้านเม็ด, แก้ปัญหาหน้ากากอนามัยและเวชภัณฑ์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ไม่ขาดแคลนและเพียงพอได้อย่างยั่งยืน, บรรจุข้าราชการใหม่ 45,000 อัตรา และเพิ่มค่าตอบแทน อสม. เดือนละ 500 บาท เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบแนวทางสร้างสรรค์ที่มีส่วนร่วมแก้ปัญหาโควิดอยู่เหมือนกัน โดยหลายพรรคการเมืองพยายามแสดงบทบาทในการแก้ปัญหาโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาลโดย น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. เขต 2 ในฐานะโฆษกพรรค พปชร. กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. สั่งการให้ตั้งศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 เพื่อประสานกับหน่วยงานภาครัฐ โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ รองหัวหน้าพรรคฝ่ายปฏิบัติการเป็นผู้ดูแล ผ่านหัวหน้าภาคทั้ง 10 ภาคของพรรค
พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรค และ ส.ส.ของพรรค ร่วมกันแถลงข่าวเปิดศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 เพื่อช่วยประสานคลี่คลายปัญหาผู้ป่วยติดเชื้อตกค้างได้ ให้เข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด
โดย นายเฉลิมชัย กล่าวว่า การเปิดศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 (ศปฉ.ปชป.) ขึ้น จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเข้าไปรับข้อมูล และประสานงานกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยประสานส่งต่อผู้ติดเชื้อให้เข้ารับการรักษาได้โดยเร็วที่สุด
เมื่อถามว่า การตั้ง ศปฉ.ปชป.จะไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานรัฐ และจะไม่มีเรื่องดรามาผู้ป่วยตกหล่นที่ติดเชื้อโควิดและรักษาที่บ้านเองใช่หรือไม่ นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ไม่ซ้ำซ้อน เป็นการตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวกลางเพิ่มช่องทาง หรือตัวเลือกให้ประชาชนที่ติดเชื้อโควิดสามารถประสานขอความช่วยเหลือได้อีกทางหนึ่ง ยืนยันว่า เตียงที่รองรับผู้ป่วยติดเชื้อยังเพียงพอ และรัฐบาลสั่งให้มีการตั้งโรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข กว่า 20,000 เตียง เราตั้งศูนย์ขึ้นเพื่อเพิ่มช่องทางในการเข้าถึง เพื่อประชาชนได้รักษาได้ทันท่วงที โดยเราไม่มีหน้าที่ไปรับ-ส่งผู้ป่วย
ด้าน น.ส.จิตภัสร์ (ตั๊น) กฤดากร รองเลขาธิการพรรค ในฐานะผู้รับผิดชอบโซเชียลมีเดียพรรค ระบุว่า โครงการนี้พรรคจัดให้มีกลไกการประสานงานช่วยเหลือ โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 รับผิดชอบเปิดช่องการรับข้อมูลหรือเรื่องราวร้องทุกข์ผ่านทางทีมบุคลากรของพรรคในพื้นที่ (Offline) และสื่อสังคมออนไลน์ (Online) ของพรรคจากผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อตกค้างที่ยังไม่สามารถเข้าระบบสาธารณสุขได้ เพื่อส่งให้ ส่วนที่ 2 ซึ่งรับผิดชอบการประสานข้อมูลผู้ติดเชื้อเพื่อการส่งต่อและส่งข้อมูลต่อไป และส่วนที่ 3 คือ ตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุขที่จะมาช่วยอำนวยความสะดวกและประสานงาน โดยช่องทางโซเชียลมีเดียพรรคจะใช้ 2 ช่องทางหลัก คือ Facebook : facebook.com/DemocratPartyTH และ Twitter : twitter.com/democratTH
ส่วน น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรค พท. กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลนำข้อเสนอของภาคเอกชนที่เป็นประโยชน์มาเร่งดำเนินการ ได้แก่ 1. ประสานความร่วมมือจากมูลนิธิที่มีศักยภาพขนย้ายผู้ป่วย เร่งขนย้ายผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาการไม่รุนแรงที่ตกค้างตามที่พักอาศัยมารักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม เพื่อเข้าสู่การดูแลของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์
2. เปิดรับความช่วยเหลือจากภาคเอกชน ซึ่งเป็นบริษัทคอลเซ็นเตอร์ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในการสร้างระบบการรับสายโทรศัพท์จากผู้ป่วย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน 3. เร่งจัดทำ ICU สนามรองรับผู้ป่วยหนักที่กำลังประสบปัญหาเตียงในโรงพยาบาลรัฐไม่เพียงพอ พร้อมประสานไปยังแล็บของเอกชนในการนำเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการดูแลรักษา 4. เร่งเบิกใช้งบกลาง ซึ่งเป็นงบฉุกเฉินในช่วงวิกฤต นำไปจัดซื้อยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น และ 5. เร่งจัดหาวัคซีนให้รวดเร็วและจริงจังมากยิ่งขึ้นจากแผนที่กำหนด (จากไทยโพสต์)
แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ เกมการเมืองที่ฉวยโอกาสถล่ม “อนุทิน” อยู่ในเวลานี้ ที่พบว่า มีสองกระแสปะทะกัน คือ กระแสปกป้อง (#Save อนุทิน) และกระแสขับไล่ให้ลาออก และทั้งสองกระแสก็ดูเหมือนแรงไม่ต่างกันด้วย
ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ก็คือ การขับไล่ “อนุทิน” ที่เป็นอยู่ในเวลานี้ เกิดจากเห็นว่า บริหารงานแก้ปัญหาโควิด-19 ล้มเหลวเท่านั้น หรือว่า มีส่วนผสมอื่นรวมอยู่ด้วย
เรื่องนี้ถ้าใครรู้จักกระทรวงคุณหมอดี ก็จะรู้ว่า การบริหารกระทรวงนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย และการเมืองในกระทรวงนี้ก็ไม่ธรรมดา แล้วที่ต้องยอมรับอีกอย่าง การเข้ามาเป็น รมว.สาธารณสุข ของ “อนุทิน” ก็ไม่น่าจะถูกใจหมอทุกกลุ่ม และเชื่อว่า มีคลื่นใต้น้ำอยู่พอสมควร ดังนั้น การเคลื่อนไหวครั้งนี้ น่าจะถึงเวลาของการแสดงออกแล้ว
กระนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า ความไม่พอใจต่อปัญหาความล้มเหลวในการบริหารจัดการแก้ปัญหาโควิด-19 จะน้อย หรือด้อยกว่าแต่อย่างใด เพราะยอดการระบาดที่ทะยานขึ้นไม่หยุด จะโทษใคร ถ้าไม่โทษ “อนุทิน” และรัฐบาล รวมทั้งความรับผิดชอบด้วย
แต่สิ่งที่ต้องชั่งน้ำหนัก ระหว่าง “อนุทิน” ลาออก แล้วการหาคนมาแทนกว่าจะลงตัวต้องใช้เวลา และสถานการณ์การระบาดก็ยังคงพุ่งสูง กับร่วมด้วยช่วยกันไปก่อน ทุกพรรคการเมือง ทุกคนในประเทศนี้ ทำอย่างที่มีท่าทีออกมาแล้ว เพื่อบรรเทาทุกข์และแก้ปัญหาเร่งด่วนให้ประชาชน อะไรจะดีกว่ากัน
การล่าชื่อไม่ใช่เรื่องยาก เพราะบางพรรค หรือ บางคณะ ที่เป็นฝ่ายแค้นรัฐบาล มีสาวกอยู่หลายล้านเหมือนกัน แค่แบ่งมาเล็กน้อย 2 แสนชื่อ วันสองวันก็ได้แล้ว แต่คำถามที่สังคมจะต้องคิดต่อ คุ้มหรือไม่ กับสถานการณ์ที่จะต้องช่วยกันอยู่ตรงหน้า กับทะเลาะกันให้ตายไปข้างหนึ่ง เลือกเอา!?