xs
xsm
sm
md
lg

“กนก” พ.ร.ก.เงินกู้ สุดอืดงบโควิด-ฟื้น ศก. เหตุระบบราชการหน่วง จี้แก้ก่อนวิกฤตซ้อนวิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กนก วงษ์ตระหง่าน (แฟ้มภาพ)
รอง หน.ปชป. ชำแหละ พ.ร.ก.เงินกู้ อนุมัติเกือบปี โอนไวแค่โครงการลดแลกแจกแถม แต่งบ สธ.สู้โควิด ฟื้น ศก.สุดอืด หวั่นรบไม่ชนะจากความไม่พร้อม ชี้สองจุดบอด ระบบราชการหน่วง-ความไม่พร้อมของหน่วยงานรับเงิน แนะเร่งแก้ปัญหา ก่อนวิกฤตซ้อนวิกฤต

วันนี้ (25 เม.ย.) ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาตรวจสอบ ติดตาม การใช้เงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท ชี้ถึงปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณก้อนนี้ว่า หลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติวงเงิน ณ วันที่ 22 มีนาคม 2564 จำนวน 749,465.8170 ล้าน เบิกจ่ายไปแล้ว 556,894.2005 ล้าน คิดเป็นร้อยละ 74.31 แสดงว่า ในระยะเวลา 11 เดือนมีการเบิกจ่ายงบประมาณไปร้อยละ 74.31 เท่านั้น (เม.ย. 63 - มี.ค. 64) เมื่อลงไปวิเคราะห์ในรายละเอียดแผนงานของเงินกู้ 1 ล้านล้านนี้ ประกอบด้วย 3 แผนงาน หรือกลุ่มโครงการ คือ 1. แผนงานที่เกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 45,000 ล้าน 2. แผนงานที่เกี่ยวกับการเยียวยา ชดเชย และช่วยเหลือประชาชนรวมถึงเกษตรกร จำนวน 600,000 ล้าน และ 3. แผนงานที่เกี่ยวกับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจและกระตุ้นการบริโภค จำนวน 355,000 ล้าน โดยตัวเลขการอนุมัติวงเงินและการเบิกจ่ายของโครงการต่างๆ พบปัญหาในส่วนของแผนงานที่เกี่ยวกับการแพทย์และการสาธารณสุข เบิกจ่ายเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายบุคลากรทางการแพทย์และการบำบัดรักษาป้องกันควบคุมโรคเป็นหลักราวเกือบ 5,000 ล้าน แต่แผนการเร่งรัดการเข้าถึงวัคซีน, โครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพและจัดหายาและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ จนถึงระบบบริการรองรับกันแพร่ระบาดของโควิด 19 วงเงินที่ได้อนุมัติรวมประมาณ 11,600 ล้านบาท แต่ไม่มีการเบิกจ่ายเลยแม้แต่บาทเดียว คำถามสำคัญคือ เกิดอะไรขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุขที่ได้รับอนุมัติวงเงินไปกว่า 20,000 ล้าน แต่เบิกจ่ายไปเพียง 5,000 กว่าล้านเท่านั้น อะไรเป็นสาเหตุของความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ จะกระทบต่อการจัดเตรียมเครื่องไม้ เครื่องมือ รองรับระบบสาธารณสุข เพื่อดูแลประชาชนในภาวการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องมีคำชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ส่วนแผนงานที่เกี่ยวกับการเยียวยา ชดเชย และช่วยเหลือประชาชนรวมถึงเกษตรกรมีวงเงินอนุมัติ 595,853 ล้านบาท และเบิกจ่ายไป 488,514 ล้านบาท (81.99%) ประกอบด้วย 2 แผนงาน คือ แผนงานเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน และแผนงานโครงการช่วยเหลือเกษตรกร แผนงานเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้ประชาชน ประกอบด้วยโครงการสำคัญได้แก่ 1) โครงการช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงินอนุมัติ 170,000 ล้าน เบิกจ่าย 159,077 ล้าน (93.58%) และโครงการอื่น ๆ อีก 7 โครงการ รวม 8 โครงการ เช่น โครงการเราชนะ, โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นที่น่าสังเกตคือ โครงการ ม.33 เรารักกันของสำนักงานประกันสังคม วงเงินอนุมัติคือ 37,100 ล้าน แต่ไม่มีการเบิกจ่ายเลย ทั้งที่ในระบบการโอนเงินให้ประชาชนเดินไปแล้ว ทำไมไม่มีการอัปเดตตัวเลขให้เท่าทันกับสถานการณ์ ส่วนแผนงานโครงการช่วยเหลือเกษตรกร 113,302 ล้าน เบิกจ่ายครบ 100% ประเด็นที่น่าสังเกตคือโครงการที่ลด แลก แจก แถมให้กับประชาชนใช้งบประมาณที่ได้รับครบถ้วนตามเป้าหมาย แต่เมื่อไปดูแผนงานที่เกี่ยวกับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจและกระตุ้นการบริโภคได้รับอนุมัติวงเงิน 133,114 ล้าน (จากวงเงินกู้ 355,000 ล้าน) ผลการเบิกจ่ายอยู่ที่ 63,314 ล้าน (47.56%) ประกอบด้วย 3 แผนงาน คือ 1) แผนงานพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ได้รับวงเงินอนุมัติ 29,451 ล้าน เบิกจ่าย 1,342 ล้าน (4.56%) เท่านั้น ในแผนงานนี้ประกอบด้วย 13 โครงการ มี 3 โครงการที่ไม่มีการเบิกจ่าย และอีก 10 โครงการมีการเบิกจ่ายเพียง 10-20% ของวงเงินอนุมัติเท่านั้น

ศ.ดร.กนกระบุว่า มีประเด็นข้อสังเกตสำคัญคือ ทำไมโครงการที่ผ่านการพิจารณาอนุมัติให้ทำได้จึงมีจำนวนน้อยมาก โครงการใหญ่ 2 โครงการในแผนงานนี้ คือ โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดของกระทรวงเกษตร ได้รับวงเงินอนุมัติจาก ครม. 13,904 ล้าน แทบไม่ได้เบิกจ่ายเลย และโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ได้รับวงเงินอนุมัติ 10,629 ล้าน เบิกจ่ายเพียง 1,134 ล้าน (10.67%) เท่านั้น 2) แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน วงเงินอนุมัติ 9,408 ล้าน เบิกจ่ายเพียง 735 ล้าน (7.82%) มี 7 โครงการ มีโครงการสำคัญ 2 โครงการ คือ โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตร ได้รับวงเงินอนุมัติโดยครม. 3,550 ล้าน เบิกจ่าย 229 ล้าน (6.46%) และโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ของกรมพัฒนาชุมชน ได้รับวงเงินอนุมัติจากครม. 4,787 ล้าน แต่เบิกจ่ายเพียง 486 ล้าน (10.15%) โครงการทั้งหมดในแผนงานนี้มี 7 โครงการ 3) แผนงานส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน ได้รับวงเงินอนุมัติ 94,254 ล้าน เบิกจ่าย 61,234 ล้าน (64.97%) แผนงานนี้มี 9 โครงการ มี 2 โครงการที่เบิกจ่ายได้สูง คือ โครงการ คนละครึ่งของสำนักเศรษฐกิจการคลัง วงเงินที่ได้รับอนุมัติจากครม.คือ 30,000 ล้าน และเบิกจ่าย 29,423 ล้าน (98.08%) และโครงการคนละครึ่งระยะที่ 2 ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่วงเงินอนุมัติจากครม. 22,500 ล้าน และเบิกจ่าย 19,274 ล้าน (85.66%) ในขณะที่โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน ได้รับอนุมัติจากครม. 19,426 ล้าน แต่เบิกจ่ายเพียง 218 ล้าน (1.12%) เท่านั้น

รองประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาตรวจสอบ ติดตาม การใช้เงิน ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ กล่าวด้วยว่า จากตัวเลขที่นำมาแสดงจะพบว่า แผนงานที่เกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุขเบิกจ่ายเพียง 24.71% และแผนงานที่เกี่ยวกับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจและกระตุ้นการบริโภคเบิกจ่ายเพียง 47.56% มีแต่เพียงแผนงานที่เกี่ยวกับการเยียวยา ชดเชย และช่วยเหลือประชาชนเบิกจ่ายสูงถึง 81.99% จากจำนวนร้อยละของ การเบิกจ่ายทั้ง 3 แผนงานนี้ บอกว่ารัฐบาลได้ให้การเยียวยา ชดเชย และช่วยเหลือประชาชนได้ดี แต่การเตรียมการความพร้อมด้านสถานพยาบาลและการเตรียมการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินที่ได้รับวงเงินอนุมัติราว 11,500 ล้าน แต่มีการเบิกจ่ายเพียง 55 ล้านเท่านั้น และที่สำคัญคือการพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นชุมชนมีการเบิกจ่ายต่ำมาก เท่ากับโครงการลดแลกแจกแถม เต็มประสิทธิภาพ แต่เรื่องการเตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุข เพื่อทำสงครามกับโควิด-19 ยังไปไม่ถึงไหน พอๆ กับการทำตามแผนฟื้นเศรษฐกิจที่ยังไร้ความคืบหน้าเช่นกัน

“รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขในสองเรื่องที่อาจเป็นสาเหตุของความล่าช้า คือ กฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการบริหารในภาวะวิกฤต และความไม่พร้อมของหน่วยงานที่ไม่ได้รับงบประมาณ หากไม่เร่งแก้ไขกระตุกแรงๆ ไปที่ระบบราชการ แทนปล่อยให้ระบบราชการเป็นผู้รันงานทั้งหมด เราคงหาคำว่า “ชนะ” เจอยาก แต่ในร้ายมีดี เมื่อมีวิกฤตจึงรู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ถ้ารู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน แล้วไม่แก้ วิกฤตจะกลับมาอีก แต่ถ้าแก้ไขปัญหานั้นได้ วิกฤตจะกลายเป็นโอกาสของการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงนี้จะนำไปสู่ความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าของประเทศ รัฐบาลต้องใช้ข้อมูลจริงที่มีทั้งหมด หาปัญหาให้พบ แล้วรีบแก้ไข โอกาสของรัฐบาลมาถึงแล้วครับวิกฤตโควิด-19 จะเป็นโอกาสของประเทศหรือไม่ ขึ้นกับรัฐบาล” ศ.ดร.กนกกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น