ไทยตายโควิดเพิ่ม 7 ราย ป่วยเพิ่มอีก 1,470 ราย ศบค.ลุยฉีดวัคซีนต่อ ยันผลข้างเคียงน้อย ขอดูรายละเอียดรอบคอบ แจง รพ.สนาม เชื้อไม่กลายพันธุ์ อยู่รวมกันได้ ต้องใส่หน้ากาก
วันนี้ (22 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 1,470 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยรายใหม่ตรวจพบระบบเฝ้าระวังและบริการ 1,370 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 100 ราย ไม่มีผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัด ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 48,113 ราย หายป่วยแล้ว 29,848 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 18,148 ราย แบ่งเป็นในโรงพยาบาล 14,555 ราย ในโรงพยาบาลสนาม 3,593 ราย ผู้รับวัคซีนเข็มแรก 141,670 ราย เข็มที่สอง 10,560 ราย
โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 7 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 117 ราย โดยผู้เสียชีวิต รายที่ 111 เป็นหญิงไทยอายุ 24 ปี อาชีพค้าขาย มีโรคอ้วน มีประวัติไปสถานบันเทิง เสียชีวิตในวันที่ 20 เม.ย. ส่วนรายที่ 112 หญิงไทย อายุ 68 ปี อาชีพดูแลเด็ก มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า มีโรคภูมิแพ้ เสียชีวิตในวันที่ 20 เม.ย. ส่วนรายที่ 113 ชายไทย อายุ 83 ปี มีโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เสียชีวิตในวันที่ 20 เม.ย. ส่วนรายที่ 114 หญิงไทย อายุ 80 ปี เป็นผู้ป่วยติดเตียง มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้า มีโรคเบาหวาน เสียชีวิตในวันที่ 17 เม.ย.
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ส่วนรายที่ 115 ชายไทย อายุ 45 ปี อาชีพพนักงานขับรถ มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน มีโรคความดัน ไขมันในเลือดสูง เสียชีวิตในวันที่ 20 เม.ย. ส่วนรายที่ 116 ชายไทย อายุ 59 ปี พนักงานรัฐวิสาหกิจ มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า มีโรคเบาหวาน และรายที่ 117 ชายไทย อายุ 86 ปี อาชีพรับจ้าง มีโรคหัวใจ มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า เสียชีวิตในวันที่ 21 เม.ย. ส่วนสถานการณ์ทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อรวม 144,431,869 เสียชีวิต 3,071,625 ราย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ 5 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุด กรุงเทพฯพบผู้ติดเชื้อวันนี้ 446 ราย นนทบุรี 118 รายเชียงใหม่ 99 ราย ชลบุรี 97 ราย และสงขลา 42 ราย โดยสถานการณ์การติดเชื้อ แนวโน้มยังไม่น่าไว้วางใจ และพบว่า การระบาดระลอกนี้มีผู้เสียชีวิตที่อายุน้อย โดยที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กนำข้อมูลของกรมควบคุมโรค นำอัตราผู้เสียชีวิตเปรียบเทียบการระบาด 3 ระลอก พ.ค. 63-มี.ค. 64 และ 21 เม.ย. 64 โดยพบว่ามีความเสี่ยงจากสถานบันเทิงสนามมวย ทำงานในแหล่งชุมชน ตลาด และติดเชื้อจากคนในครอบครัว ในปี 64 เสียชีวิตเกินครึ่ง โดยกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ยังเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุด แม้ว่าการระบาดรอบหลังๆ จะมีผู้ป่วยที่อายุน้อยเสียชีวิตเพิ่มเติมและที่สำคัญ คือ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ จะมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต จึงเป็นบทเรียนให้เพิ่มความระมัดระวัง โดยเฉพาะการนำเชื้อจากข้างนอกไปติดคนในบ้าน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องของกลุ่มก้อนคลัสเตอร์นครราชสีมามี 5 กลุ่มก้อน ทำให้มีผู้ติดเชื้อโควิดไปแล้ว 71 คน จากคลัสเตอร์ดังกล่าว โดยกลุ่มก้อนที่ จ.นครราชสีมา ทางกรมควบคุมโรคได้วิเคราะห์แล้วมีทั้งหมด 7 คลัสเตอร์ รวมไปถึงที่ จ.ชัยภูมิ ด้วย เริ่มจากงานเลี้ยงวันเกิดที่ปากช่อง จ.นครราชสีมา ทำให้มีการติดเชื้อเพิ่มรวดเดียว 47 ราย โดยเริ่มจากมีเพื่อนไปเที่ยวที่เยาวราชก็เลยมาติดในงานวันเกิด ทำให้เกิดคลัสเตอร์ตามมาอีก 7 คลัสเตอร์ คือ 1. งานเลี้ยงวันเกิด อ.ปากช่อง 2. โรงเหล้า จ.นครราชสีมา 3. ร้านหมูกระทะ อ.เมือง จ.นครราชสีมา 4. ร้านคาราโอเกะ อ.เมือง จ.นครราชสีมา 5. ผับ บาร์ จ.ชัยภูมิ 6. งานเลี้ยงทหารอากาศ อ.เมือง จ.นครราชสีมา และ 7. กลุ่มครอบครัวบุคลากรณ์ทางการแพทย์
เมื่อถามถึงกรณีมีข่าวว่า การฉีดวัคซีน โควิด-19 ทำให้มีอาการอัมพฤกษ์ โดยสรุปแล้วอาการดังกล่าวเกิดขึ้นจากการรับวัคซันโควิด-19 จริงหรือไม่แล้วแบบนี้ต้องพิจารณาหยุดหรือไม่รับวัคซีนหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เรื่องของวัคซีนที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (อีโอซี) ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานได้พูดคุยเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นใหญ่ ว่า จากข้อมูลคณะกรรมการพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากวัคซีน ซึ่งมีกลุ่มของวิชาชีพทางด้านโรคติดเชื้อโรงเรียนแพทย์ได้ให้ความเห็นอย่างกว้างขวางว่า 6 รายที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน แต่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนล็อตสองที่มีการนำเข้าแต่อย่างใด เนื่องจากประโยชน์ของการฉีดวัคซีนมีมากกว่า ฉะนั้น จำนวนที่ฉีดเป็นแสนรายแล้วเกิดขึ้น ไม่ทำให้เป็นเหตุที่จะหยุดที่จะให้วัคซีน เพราะการให้วัคซีนถือเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ จะมีการลงไปดูในรายละเอียดอย่างรอบคอบอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับประชาชน ทางที่ประชุมจึงมอบให้กรมควบคุมโรคและนักวิชาการไปดูข้อสรุปต่างๆอย่างละเอียดอีกครั้ง และการฉีดวัคซีนยังคงเดินหน้าต่อ แต่ไม่มีการบังคับแม้จะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ให้บุคคลนั้นเป็นผู้ตัดสินใจเอง ยืนยันว่าไม่มีการปิดบังใดๆ ทั้งสิ้น
เมื่อถามว่า ตอนนี้เกิดคลัสเตอร์ใหม่กระจายทั่วอย่างนี้สถานประกอบการกังวลและคนไปใช้บริการก็กังวลว่า จุดที่เราไปจะไม่เป็นแหล่งระบาดของเชื้อโรคก็เป็นคัตเตอร์ใหม่จะมั่นใจได้อย่างไร พน.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เรื่องนี้ได้มีการพูดคุยในศบค.ชุดเล็กนอกจากการรักษาเรื่องการป้องกันเป็นเรื่องสำคัญ กรมอนามัยจึงได้มีการติดตั้งแพลตฟอร์ม “Thai Stop Covid Plus” โดยให้สถานประกอบการนำข้อมูลไปประเมินตนเอง ว่า ในการลงทะเบียนลูกค้าเข้าใช้บริการจำกัดจำนวนลูกค้า ซึ่งตอนนี้ได้รับความร่วมมือ 3 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดคือขอนแก่น นนทบุรี และ ภูเก็ต ส่วนในพื้นที่ควบคุม 3 จังหวัด คือ ยโสธร มุกดาหารและบึงกาฬ เพื่อสร้างความมั่นใจ
เมื่อถามอีกมีความกังวลว่ากลุ่มที่มีการติดเชื้อ โควิด-19 และมีอาการน้อยเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลสนามจะทำให้ได้รับเชื้อเพิ่มขึ้นและทำให้อาการรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ระบบของการที่เอาคนไปอยู่รวมกันไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสนาม คนกลุ่มเดียวกันโรคเดียวกันเข้าไปจะต้องใช้ทรัพยากรหมอ พยาบาลและสถานที่ ฉะนั้น การมาอยู่รวมกันไม่ได้ให้อยู่แบบสบาย แต่เราจะต้องมีการเว้นระยะห่าง ที่สำคัญทุกคนจะต้องใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ และปฏิบัติตามบุคลากรทางการแพทย์เป็นมาตรฐานที่สูงกว่าการอยู่ในชุมชน ยืนยันจะไม่มีการกลายพันธุ์ของเชื้อ มีเปอร์เซ็นต์น้อยมากที่จะกลายพันธุ์ ซึ่งการออกแบบระบบนี้ขึ้นมาในต่างประเทศก็มีการสร้างโรงพยาบาลสนาม