xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” บอกคนไทยไม่ใช่หนูทดลอง แนะรู้ให้เท่าทันการล่าอาณานิคมวัคซีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รสนา” ตั้งคำถาม ในสถานการณ์ที่เชื้อโควิดยังกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ จนอาจต้องฉีดวัคซีนกันไม่สิ้นสุด คนไทยควรจะเป็นหนูทดลองพร้อมชาติอื่น หรือควรให้คนชาติอื่นใช้วัคซีนไปก่อนเพื่อดูผลกระทบ ย้ำทำไมต้องเสี่ยงกับวัคซีนที่ยังไม่การวิจัยอย่างชัดเจน ในขณะที่ไทยมีอัตราความรุนแรงของโรคและอัตราการเสียชีวิตต่ำมาก อีกทั้งยังสามารถใช้สมุนไพรของเราเองรักษาโรคอย่างได้ผล

วันนี้ (11 เม.ย.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และผู้ประกาศตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก แฟนเพจ รสนา โตสิตระกูล ในหัวข้อ คนไทยไม่ใช่หนูทดลองวัคซีน-รู้ให้เท่าทันการล่าอาณานิคมวัคซีน มีรายละเอียดว่า เชื้อโควิด-19 เป็นไวรัสที่มีหนามจึงมีชื่อว่า โคโรนาไวรัส แปลว่า ไวรัสที่มีมงกุฎหนาม ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายเร็ว มีความรุนแรงและแพร่ระบาดไปในระดับโลก โดยอัตราการเสียชีวิตในระยะแรกจะสูงมาก อย่างไรก็ตาม ไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวเก่ง ในยามเริ่มแรกไวรัสโควิด-19 ยังเป็นพวกป่าเถื่อนอยู่ที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเลย เปรียบเทียบกับโรคโคโรนาไวรัสซาร์สตัวแรกเมื่อ 18 ปีก่อน ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่มีมงกุฎหนามเช่นกันแต่เมื่อผู้ป่วยเสียชีวิต เชื้อไวรัสก็ตายด้วย ทำให้ซาร์ส-1 สูญหายไปเองอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อหรือฉีดวัคซีนสารพัดยี่ห้อเหมือนเดี๋ยวนี้ ที่เรากำลังเผชิญหน้ากับโควิด-19 หรือ ซาร์ส-2 แม้จะรุนแรงน้อยกว่าซาร์ส-1 แต่ก็สิงสถิตอยู่กับเผ่าพันธุ์มนุษย์ได้ยาวนานกว่ามาก และยังไม่มีใครตอบได้ว่าเจ้าโคโรนาไวรัสซาร์ส-2 หรือโควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน
ถ้าเราลองนึกย้อนกลับไปในระยะใกล้ๆ นี้ ยังไม่เคยมีการค้นพบวัคซีนป้องกันโรคไวรัสอุบัติใหม่ใดๆ ได้สำเร็จเลย จนกระทั่งโรคระบาดเหล่านั้นสูญหายไปเองในปีเดียว โดยไม่ต้องใช้วัคซีนเลย เช่น ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ 2009 โรคซาร์ส โรคเมอร์ส เป็นต้น ในขณะที่ไข้หวัดใหญ่ที่ผลิตวัคซีนออกมา กลับมีการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสใหม่ทุกปี
แม้แต่โรคไวรัสเอดส์ ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ร้ายแรงในอเมริกามาตั้งแต่ปี 2524 และเชื้อไวรัสเอดส์ยังอยู่กับเรามาจนบัดนี้ มีตัวเลขเมื่อปี 2563 นี้เองว่ามีผู้ติดเชื้อ HIV ทั่วโลกราว 37 ล้านคน กล่าวเฉพาะในกรุงเทพฯ ของเราจังหวัดเดียว ยกตัวอย่างในปี 2562 มีผู้ติดเชื้อ HIV ราว 77,558 คน และมีผู้เสียชีวิตที่รายงานว่าตายเพราะเอดส์ในปีเดียวกันจำนวน 1,877 คน ในปัจจุบันเรามีแต่ยาต้านเชื้อเอดส์ แต่ไม่มีวัคซีนป้องกันเอดส์แม้แต่เข็มเดียว ทั้งที่พวกบริษัทผลิตวัคซีนยักษ์ใหญ่มีเวลายาวนานถึง 40 ปี แต่ทำไมไม่มีความสามารถในการผลิตวัคซีนเอดส์

ในช่วงหลังจะพบว่าไวรัสโควิด-19 มีการปรับตัวมากขึ้นเพื่อจะได้ดำรงอยู่กับผู้ติดเชื้อได้ จึงมีการกลายพันธุ์ ที่พบขณะนี้อย่างน้อย 3 สายพันธุ์ คือ (1) สายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 (2) สายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351 และ (3) สายพันธุ์บราซิล P.1 ยังไม่มีหลักฐานว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ 3 สายพันธุ์นั้น ชนิดใดที่ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยรุนแรงมากกว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์เดิม โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด คือ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ไวรัสทั้ง 3 สายพันธุ์นี้มีการเปลี่ยนแปลงที่ปุ่มโปรตีน ซึ่งเป็นส่วนที่ไวรัสใช้ในการยึดเกาะกับเซลล์ในร่างกายมนุษย์ ทำให้สามารถที่จะเข้าสู่เซลล์และแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น
โชคดีของคนไทยที่โควิด-19 ในระลอก 2 และ 3 ในประเทศเรานี้ มีอัตราความรุนแรงต่ำลงจากปีที่แล้ว โดยจากเดิมเมื่อปี 2563 ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิต 2.95% แต่ปัจจุบันแม้มีผู้ติดเชื้อมาก แต่อัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า 0.34% แปลว่าความรุนแรงของโรคลดลงมาก แม้ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เชื้อโควิด ระยะหลัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ “ไม่มีไข้” แปลว่า ที่ผ่านมาการคัดกรองไข้ตามสถานที่ต่างๆ อาจจะหลงทางมานาน การคัดกรองด้วยการวัดไข้ 37.5 องศาเซสเซียส อาจกลายเป็นตัวชี้วัดที่ได้ผลน้อยหรืออาจไม่ได้ผลเลย จึงยากแก่การป้องกันควบคุมโรคระบาดระลอกใหม่นี้ได้
วัคซีนในปัจจุบันที่ประเทศไทยนำมาใช้มีอยู่ 2 ยี่ห้อคือ ซิโนแวคจากจีน และแอสตร้าเซนเนก้าจากเกาหลีใต้ ซิโนแวคมีประสิทธิศักดิ์ต่ำ แต่ปลอดภัยกว่า เพราะมาจากเชื้อโควิดที่ตายแล้ว แต่กลับห้ามฉีดในผู้สูงวัย ทั้งๆ ที่กลุ่มผู้สูงวัยเสี่ยงที่จะมีความรุนแรงของโรคมาก และอัตราการเสียชีวิตสูง แปลว่าเรากำลังฉีดวัคซีนลดความรุนแรงในกลุ่มที่มีความรุนแรงของโรคต่ำมากอยู่แล้ว ทำให้ดูเหมือนว่าวัคซีนเป็นตัวช่วยเรื่องนี้ ซึ่งแท้จริงอาจไม่ใช่มาจากวัคซีนก็เป็นได้ใช่หรือไม่
ในขณะที่แอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนที่ใช้เชื้อไวรัสหวัดชนิดหนึ่งจากลิงชิมแปนซี มาดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้มีโปรตีนโคโรนาไวรัสเลียนแบบ ซึ่งจะกระตุ้นให้ร่างกายมนุษย์สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต้านเชื้อโควิด-19 ได้ ในทางทฤษฎี (ขอให้ขีดเส้นใต้ตรงคำว่า “ในทางทฤษฎี”) วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จึงอยู่ในระหว่างการพัฒนาให้ดีขึ้น และปลอดภัยขึ้น โดยทั้งนี้พบว่ายังเป็นวัคซีนที่มีค่าประสิทธิศักดิ์ต่ำกว่าวัคซีนอีกหลายตัวในยุโรป และเป็นวัคซีนที่ยังมีข้อถกเถียงเรื่องความปลอดภัย จึงยังไม่ใช่วัคซีนที่จะใช้ป้องกันโรค หรือใช้วงกว้างมากที่สุดเช่นกันในเวลานี้ ใช่หรือไม่

ข้อเสนอของหลายฝ่ายในการใช้วัคซีนให้มากทั่วถึงและรวดเร็วในเวลานี้ดูไม่เป็นเหตุเป็นผลที่ชาวบ้านธรรมดาอย่างเราๆ จะเข้าใจได้เลย เพราะข้อเท็จจริงขัดกับความเชื่อที่ว่าวัคซีนจะเป็นเครื่องช่วยชีวิต ป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดได้ ซึ่งผูกติดกับความเชื่อดั้งเดิมว่าฉีดวัคซีนแล้วจะไม่ติดเชื้อซ้ำอีก แต่วัคซีนโควิดในปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์ประเด็นข้างต้น จริงอยู่วัคซีนโควิดอาจช่วยได้คือลดความรุนแรงและไม่เสียชีวิตเมื่อติดเชื้อโควิด แต่ถ้าอัตราการตายจากโควิดในปีนี้ ลดลงมากจาก 2.95% ของปี 2563 เหลือเพียง 0.34% ในปี 2564 แน่นอนว่าไม่ได้เป็นผลมาจากวัคซีนแต่อย่างใด เพราะคนไทยเพิ่งได้รับวัคซีนไปราว 5 แสนคน ยังไม่ถึง 1% ของประชากรด้วยซ้ำไป ทั้งที่ ข้อมูลทางวิชาการระบุว่าวัคซีนที่จะหยุดการแพร่ระบาดได้ ต้องฉีดให้ได้อย่างต่ำ 25-60% ของประชากรจึงอาจจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นได้
ณ ขณะนี้ ประสิทธิศักดิ์ประสิทธิผล และความปลอดภัยของวัคซีนโควิดทุกยี่ห้อที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันในหมู่นักไวรัสวิทยาและนักอิมมูโนวิทยาทั่วโลก แม้องค์การอนามัยโลกจะไฟเขียวให้ใช้ได้ในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วก็ตาม แต่องค์การอนามัยโลกก็ยังไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าจะต้องฉีดวัคซีนมากเท่าใด จึงจะเริ่มเกิดภูมิคุ้มกันได้จริงและอยู่ได้ยาวนานเพียงไร
สิ่งที่น่าประหลาดใจอีกอย่างจากกรณีการตรวจเชิงรุกที่กลุ่มประชากรที่สมุทรสาคร ช่วงระบาดระลอก 2 พบข้อมูลสำคัญว่าผู้ที่เข้าตรวจนั้นมีภูมิคุ้มกันโควิด-19 อยู่แล้วถึง 73% โดยไม่ต้องฉีดวัคซีนใดๆ เลย (ดูตารางประกอบ) ยิ่งทำให้เห็นว่ารัฐควรทุ่มสรรพกำลังในการศึกษาวิจัยว่าคนในจังหวัดที่พบการระบาดมาก ว่ามีภูมิคุ้มกันแล้วเท่าใด หากพบมากก็จะไม่ต้องไปฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิซ้ำซ้อนสิ้นเปลืองไปอีก


วิกฤตการณ์โควิดในเวลานี้ไม่ต่างจากสงครามโลกในอดีต แต่คราวนี้เป็นสงครามกับเชื้อโรค ในยามสงครามผู้จะร่ำรวยจากสงครามคือพ่อค้าอาวุธ แต่สงครามกับเชื้อโรค ผู้ที่จะร่ำรวยก็คือพ่อค้ายาและวัคซีน ใช่หรือไม่ ข้อนี้เป็นสิ่งที่คนทั่วไปอดสงสัยไม่ได้ ยิ่งคนแตกตื่นและหวังพึ่งวัคซีนที่ยังพัฒนาไม่เต็มร้อยเพียงอย่างเดียว จนไม่สนใจทางเลือกอื่นๆ ก็มีแต่ทำให้บริษัทยาร่ำรวยโดยไม่ต้องรับผิดชอบ

รัฐบาลควรพิจารณาทางเลือกจากภูมิปัญญาสมุนไพรของนักวิจัยไทยและนานาชาติในการใช้ฟ้าทะลายโจรกับผู้ป่วยโควิดโดยการทำวิจัยอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษา ซึ่งไม่ต่างจากการติดตามรายงานผลอาการ และผลข้างเคียงของคนรับวัคซีน เฟส 4 (post marketing) ของบริษัทยา โดยที่ฟ้าทะลายโจรเป็นยาในบัญชียาหลัก จึงมีความปลอดภัยสูง การพบว่าฟ้าทะลายโจรสามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 ในหลอดทดลอง และการใช้ทางคลินิกพบว่า ผู้ติดเชื้อโควิด 270 คน สามารถหายได้ภายใน 5 วัน ที่รับรองผลการทดลองโดยกรมแพทย์แผนไทยแล้วอีกด้วย

ไม่ใช่แค่การทดลองในประเทศไทยเท่านั้น ยังมีงานวิจัยของจีนเกี่ยวกับฟ้าทะลายโจรกับโควิด-19 เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2563 โดยนักวิจัยจีนใช้เทคนิคการจับของโครงสร้างยากับเชื้อโรค (molecular docking) ในคอมพิวเตอร์ พบว่า สารแอนโดรกราโฟไลด์ และอนุพันธุ์ของฟ้าทะลายโจร จับตัวกับเชื้อโควิดหลายตำแหน่งโดยเป็นตำแหน่งที่สำคัญในการยับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของไวรัส โควิด และยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส นอกจากนี้ จีนยังเคยจดสิทธิบัตรสารแอนโดรกราโฟไลด์และอนุพันธ์ของฟ้าทะลายโจรในการป้องกันและรักษาโรคซาร์ส-1 ซึ่งเป็นโคโรนาไวรัสตระกูลเดียวกับโควิด-19

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ สาขาสาธารณสุขศาสตร์ ตีพิมพ์แนวการรักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่มีภาวะปอดเสียหายเฉียบพลัน พบว่าอนุพันธุ์ของฟ้าทะลายโจร ชื่อ Dehydrographolide Succinate ซึ่งขึ้นทะเบียนที่จีนใช้เป็นยาฉีดรักษาปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งอาจจะนำมาใช้ในการรักษาปอดเสียหายจากโควิดในรูปยาพ่นละออง

กลไกสำคัญของฟ้าทะลายโจรที่พบ 4 ประการคือ
1) กลไกป้องกันไวรัสเข้าเซลล์
2) ลดการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส
3) ลดการอักเสบ โดยเฉพาะที่ปอด
4) เพิ่มภูมิคุ้มกัน

อย่างไรก็ดี วัคซีนป้องกันที่ดีที่สุด คือ การเว้นระยะห่างทางกายภาพ การสวมใส่มาสก์ การล้างมือบ่อยๆ การรักษาสุขภาพเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน ซึ่งแนวทางนี้ ประเทศไทยเคยทำมาแล้วสมัยเกิดอหิวาตกโรคเมื่อ 200 ปีก่อน (พ.ศ. 2363) สมัยรัชกาลที่ 2 คนไทยในพระนครตายไป 30,000 คน ในเวลานั้น มีประชากรในกรุงเทพฯ แค่แสนเศษ เท่ากับเสียชีวิตถึง 30% แต่เมื่อล้นเกล้ารัชกาลที่ 2 ทรงรับสั่งให้ประชาชนอยู่กับบ้าน (lock-down) ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายหน้า ฝ่ายใน ก็โปรดมิให้เข้าเฝ้า ให้งดกิจราชการเสียทั้งหมด ปล่อยไพร่ทาสและนักโทษทั้งหมดให้กลับไปอยู่บ้านเรือนของตน ถนนหนทางไม่มีคนเดิน ตลาดหยุดค้าขาย เว้นไป 15 วัน โรคระบาดภายในกรุงเทพฯ สมัยนั้นก็ทุเลาลง

การต่อสู้กับโควิด-19 ในเวลานี้ ผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์ และความพยายามในการพึ่งตนเองโดยอาศัยภูมิปัญญาการรักษาของสังคม และลดการระบาดด้วยสุขอนามัยคือการใส่มาสก์ ล้างมือ ไม่อยู่ในที่แออัดอย่างที่บรรพบุรุษไทยเคยใช้กันอย่างได้ผลมาแล้ว ในขณะที่หลายคนกำลังคิดว่าทำไมประเทศไทยจึงฉีดช้ากว่าประเทศอื่นๆ ทำไมเราไม่ตั้งคำถามว่า เราจะเสี่ยงกับวัคซีนที่ยังไม่วิจัยอย่างชัดเจนเพื่ออะไร ในขณะที่ประเทศไทยมีอัตราความรุนแรงของโรคต่ำมาก อัตราการเสียชีวิตก็ต่ำมาก และวัคซีนก็ยังไม่ถึงระดับป้องกันการติดเชื้อได้ อีกทั้งเราสามารถใช้สมุนไพรของเราเองรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิผลดีอยู่แล้ว

ในสถานการณ์เช่นนี้ ที่โควิดยังกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ จนอาจต้องฉีดวัคซีนกันไม่สิ้นสุด คนไทยควรจะเป็นหนูทดลองพร้อมชาติอื่น หรือจะให้คนชาติอื่นใช้วัคซีนไปก่อนสักพักเพื่อดูผลกระทบโดยรวม อะไรที่จะเป็นวิธีที่ดีกว่ากัน










กำลังโหลดความคิดเห็น