“ไพบูลย์” นำทีมยื่น 110 รายชื่อ ส.ส.พปชร. แก้ไข รธน.ต่อ ปธ.สภาฯ แก้ 5 ประเด็น ยึดประโยชน์ ปชช. จริงใจแก้เป็นรูปธรรม ไม่แตะอำนาจ ส.ว.หวั่นขัดแย้ง เผย “ประวิตร” ปลื้มปมเพิ่มสิทธิเสรีภาพ ปชช.มากขึ้น
วันนี้ (7 เม.ย.) ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมสมาชิกพรรคยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา โดยนายไพบูลย์กล่าวว่า ขณะนี้พรรคพลังประชารัฐได้รวบรวมรายชื่อ ส.ส.พปชร. จำนวน 110 ชื่อ เพื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งหมด 5 ประเด็น 13 มาตรา พร้อมบันทึกหลักการและเหตุผลพร้อมบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างแก้ไขดังกล่าว ประกอบด้วย ประเด็นที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพ แก้ไขมาตรา 29, 41 และมาตรา 45 ประเด็นที่ 2 แก้ไขระบบการเลือกตั้ง มาตรา 83, 85, 86, 90, 91, 92 และมาตรา 94
ประเด็นที่ 3 แก้ไขมาตรา 144 การพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ ซึ่งเดิมมีปัญหากระทบต่อการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณ แก้ไขโดยให้ใช้ข้อความตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 168 วรรคห้า วรรคหก วรรคเจ็ด วรรคแปด และวรรคเก้า มาใช้แทน
ประเด็นที่ 4 แก้ไขมาตรา 185 เพื่อแก้ไขอุปสรรคการทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาให้สามารถติดต่อส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้ โดยได้นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 111 มาใช้แทน
ประเด็นที่ 5 แก้ไขบทเฉพาะกาล มาตรา 270 เปลี่ยนแปลงอำนาจวุฒิสภาให้เป็นอำนาจรัฐสภา โดย ส.ส. ส.ว.มีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ
นายไพบูลย์กล่าวว่า พรรคเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของประชาชน และการทำหน้าที่ของ ส.ส.เพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยมีสาระสำคัญคือการแก้ไขระบบเลือกตั้ง จากบัตรใบเดียวเป็นบัตร 2 ใบ ซึ่งตรงกับความต้องการของพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล รวมทั้งรับฟังเสียงประชาชนมาทุกคนก็ต้องการแบบนี้ เป็นการแก้ไขเพื่อลดความขัดแย้ง ซึ่งหลายฝ่ายโจมตีว่าพรรคพปชร. ได้ประโยชน์จากบัตรใบเดียว นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้ง เป็น ส.ส. ระบบแบ่งเขต 400 คน บัญชีรายชื่อ 100 คน ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ส่วนการคำนวณ ส.ส. ให้ใช้ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับแก้ไขครั้งที่ 1
นายไพบูลย์กล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้ยังมีในเรื่องมาตรา 144 ซึ่งที่ผ่านมาในรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดบทลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากมีกฎหมายอาญาเข้าเกี่ยวข้องและเป็นบทลงโทษที่เกินกว่าเหตุ
ดังนั้นจึงเสนอนำบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2550 มาใช้ โดยที่ ส.ส.และ ส.ว.ยังคงแปรญัตติไม่ได้เหมือนเดิม ขณะที่ในส่วนของอำนาจวุฒิสภา ที่เดิมวุฒิสภาทำหน้าที่ในการติดตามการปฏิรูปประเทศและติดตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ให้แก้ไขบทเฉพาะกาล มาตรา 270 เปลี่ยนแปลงอำนาจวุฒิสภา ให้เป็นอำนาจรัฐสภา โดย ส.ส. ส.ว.มีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ซึ่ง ส.ส.มีจำนวนมากกว่า ส.ว.
นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีการเพิ่มสิทธิเสรีภาพประชาชนมากขึ้น แตกต่างกับฉบับก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ยังได้มีการขอแก้ไขเรื่องไพรมารีโหวต ซึ่งพรรคการเมืองทุกพรรคทักท้วงในเรื่องนี้ เพราะไม่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงและสร้างปัญหายุ่งยากให้ทุกพรรคการเมืองมากเกินกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นจึงให้แก้ไขให้กลับไปใช้บทบัญญัติว่าด้วยพรรคการเมืองในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 47 มาบังคับใช้แทน
“ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรค พปชร.เสนอ เราต้องการแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ จริงจัง เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรูปธรรม ดังนั้นขอให้เพื่อนสมาชิกทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และฝ่ายค้าน ได้พิจารณาร่างของพรรค พปชร.ด้วย” นายไพบูลย์กล่าว
เมื่อถามว่าประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอย่างมากในสังคม เช่น ที่มา และอำนาจของ ส.ว. จะไม่มีการแก้ไขใช่หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า เราไม่แก้ไขอะไรที่ดูแล้วมีข้อขัดแย้ง และดูแล้วอาจจะไม่สำเร็จ ทั้งนี้ ตนไม่ได้ห้ามว่าไม่มีร่างแก้ไขฉบับที่ 2 แต่ร่างฉบับที่ 1 ของพรรค พปชร. เรามุ่งแก้ไขปัญหาเพื่อประโยชน์ของประชาชนไปก่อน แต่ไม่ได้ห้ามว่าท่านไปยื่นอย่างอื่นไม่ได้ แต่ไม่อยากมีเงื่อนไขลักษณะว่าต้องแก้อำนาจ ส.ว.ก่อน หรืออะไรก่อน อันนี้เป็นลักษณะเอาประชาชนเป็นตัวประกัน เราไม่เห็นด้วย เพราะเราเห็นว่าควรเอาประชาชนเป็นหลักก่อน แล้วเรื่องที่จะแย่งชิงอำนาจของสมาชิกรัฐสภากลุ่มอื่นก็แยกออกเป็นอีกญัตติ แล้วไปดำเนินการกัน ไม่อยากให้เอาเรื่องนี้เป็นปัญหาไปทำให้ร่างที่เราจะแก้เพื่อเป็นประโยชน์ของประชาชนชักช้าไปด้วย
เมื่อถามว่าร่างนี้ได้ผ่านตา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ แล้วหรือยัง นายไพบูลย์กล่าวว่า ท่านได้ดูแล้ว และท่านเห็นชอบ โดยประเด็นแรกที่ท่านเห็นชอบคือ การเพิ่มเติมในหมวดสิทธิและเสรีภาพให้แก่ประชาชนให้มีกระบวนการยุติธรรม การเพิ่มสิทธิชุมชน การเพิ่มสิทธิให้พรรคการเมือง ฯลฯ
เมื่อถามย้ำว่าหากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จะเสนอแก้มาตรา 256 เพื่อแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ พปชร. จะสนับสนุนหรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องไปถาม ส.ว.เขาก่อนเพราะกระทบเขา และต้องไปถามฝ่ายค้านด้วย เพราะฝ่ายค้านเขาก็มีสิทธิที่จะโต้แย้งถึง 20% เขาก็หวงของเขานะ และสุดท้ายต้องถามรัฐบาลด้วย เพราะเขาเป็นผู้ใช้งบประมาณในการทำประชามติ เนื่องจากหากเป็นรูปแบบนี้ต้องออกเสียงประชามติ
เมื่อถามว่าข้อเสนอของพรรค พปชร.เหมือนเอาใจ ส.ว. นายไพบูลย์กล่าวว่า ตนเอาใจประชาชน และตนเชื่อว่าร่างใดที่เอาใจประชาชน และช่วยเหลือประชาชนจริง ส.ส.ต้องเอาด้วย ทั้งนี้หากมีการบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงต้นเดือน มิ.ย. การพิจารณาวาระ 1, 2 และ 3 คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม