xs
xsm
sm
md
lg

ทบ.ยกกฎเหล็กห้ามกำลังพลยุ่งการเมือง จับตาม็อบ “จตุพร” สั่งห้ามยุทโธปกรณ์ผ่านชายแดน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ โฆษกกองทัพบก (แฟ้มภาพ)
โฆษก ทบ. เผย “บิ๊กบี้” สั่งห้ามอาวุธ-ยุทโธปกรณ์เข้าออกชายแดน หลังพม่ายังไม่สงบ พร้อมเข้มกฎเหล็กห้ามกำลังพลยุ่งการเมือง ยกคำสั่ง 388/2563 ขู่ หากฝืนตั้ง กก.สอบฟันวินัย-อาญา จับตา “ม็อบจตุพร”

วันนี้ (5 เม.ย.) เมื่อเวลา 14.30 น. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถ.ราชดำเนิน พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ โฆษกกองทัพบก แถลงภายหลังการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.ทบ.) ถึงการดูแลชายแดนไทย-เมียนมา ว่า ช่วงวันที่ 26-27 มี.ค. 64 เกิดการสู้รบในประเทศเมียนมา ใกล้ชายแดนไทยตรงข้าม อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศเป็นป่าภูเขา มีแม่น้ำสาละวิน เป็นเส้นเขตแดนเป็นระยะทางประมาณ 118 กิโลเมตร สามารถใช้เรือโดยสารสัญจรข้ามไปมาได้ จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ประชาชนชาวเมียนมา ซึ่งเป็นผู้หนีภัยความไม่สงบเดินทางข้ามแม่น้ำสาละวินมายังฝั่งประเทศไทยรวมกันเป็นกลุ่มบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำสาละวินฝั่งไทยใน ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จำนวน 2,788 คน ทางกองกำลังป้องกันชายแดน กองกำลังนเรศวร โดยหน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 36 ได้ดำเนินการอำนวยความสะดวกเพื่อมนุษยธรรม ในพื้นที่พักรอ ภายใต้มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่อาจจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยด้วยมาตรการสูงสุด และการชี้แจงให้เข้าใจสถานการณ์ ต่อมาตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา มีประชาชนชาวเมียนมาได้เริ่มเดินทางกลับ หลังรับทราบสถานการณ์จากการทำความเข้าใจกันและเดินทางกลับโดยสมัครใจ

พล.ท.สันติพงศ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ พื้นที่สู้รบที่อยู่ในความดูแลของไทยช่วง 40 กว่าปีที่ผ่านมา ไทยได้ดูแลประชาชนชาวเมียนมาตลอด โดยมีพื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนี้ภัยการสู้รบจากเมียนมาจำนวน 9 จุด ตั้งแต่ จ.ตาก แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี และ จ.ราชบุรี มีประชาชนเมียนมา 78,126 คน หรือ 21,221 ครัวเรือน เป็นที่เป็นผู้หนีภัยจากการสู้รบ 38,856 คน ผู้อาศัย 39,270 คน ในสถานการณ์ปัจจุบันพื้นที่ที่เกิดการสู้รบระหว่างเมียนมากับชนกลุ่มน้อยที่เป็นพื้นที่ที่มีเขาสูง ทั้งฝั่งไทยและเมียนมา สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามที่เป็นข่าว ห่างจากชายแดนประมาณ 20-30 กิโลเมตร และห่างจากพื้นที่ที่มีประชาชนของทั้งสองประเทศข้ามไปมาประมาณ 35-40 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่สูง และเป็นแนวชายแดน ในปกติกำลังทางทหารในประเทศใดก็ตาม หากจะใช้กำลังในพื้นที่ที่ติดกันประเทศนั้นๆ จะต้องระมัดระวังในการใช้ยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะการใช้เครื่องบินหรืออากาศยานโจมตี ต้องอยู่ให้ห่างจากชายแดน จะใช้อาวุธยิงก็ต้องระมัดระวังเพื่อไม่ให้ล้ำเขตแดนกัน โดยเฉพาะพื้นที่เขาสูง เชื่อได้ว่า ตลอดแนวชายแดนแม่น้ำสาละวินค่อนข้างปลอดภัย ทั้งฝั่งไทยและเมียนมา ส่วนสถานการณ์ที่มีประชาชนของเพื่อนบ้านบาดเจ็บ เราก็ทำหน้าที่ตามมนุษยธรรม โดยรับมาดูแลและส่งไปที่โรงพยาบาล

“นี่คือสิ่งที่กองกำลังชายแดนดำเนินการอยู่ ส่วนกรณีการค้าขายอาวุธยุทโธปกรณ์ตามแนวชายแดน ถือเป็นหลักการที่เราไม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งเราไม่ยอมอยู่แล้วในทุกเรื่อง ผบ.ทบ.ได้กำชับไม่ให้มียุทโธปกรณ์ผ่านเข้าออกตามแนวชายแดนอย่างเด็ดขาด แต่ที่ผ่านมา มีการตรวจสอบการส่งกระสุนวัตถุระเบิดทางบริษัทของเอกชน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมได้ และดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป” พล.ท.สันติพงศ์ กล่าว

พล.ท.สันติพงศ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ผบ.ทบ.มีความเป็นห่วงชายแดนไทย-เมียนมา โดยจะเห็นว่าเมื่อสองเดือนที่ผ่านมา ผบ.ทบ.ให้ความสำคัญกับพื้นที่ภาคตะวันตกที่ติดกับฝั่งเมียนมา ห่วงใยความปลอดภัยของคนไทยเป็นที่สุด อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านและทิศใต้มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก จึงให้ความสำคัญกับกองกำลังแนวชายแดนในการตรวจ และสกัด รวมทั้งสร้างมาตรการอื่นๆ ให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด จึงให้ความมั่นใจได้ว่ากองกำลังป้องกันชายแดน โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกมีประสิทธิภาพในการทำงาน

เมื่อถามว่า การใช้อากาศยานโจมตีต้องมีระยะห่างจากชายแดนฝั่งประเทศไทยเท่าไหร่ พล.ท.สันติพงศ์ กล่าวว่า ตนไม่ขอตอบ แต่ทุกประเทศต้องระมัดระวังในการปฏิบัติการตามแนวชายแดน เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อเส้นเขตแดน ทั้งในส่วนด้านตะวันตกที่เป็นแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำเมย ซึ่งตามสนธิสัญญาถือเป็นแม่น้ำกลาง สองประเทศสามารถใช้ร่วมกันได้ แต่ถ้าข้ามไปฝั่งใดก็ถือเป็นสิทธิและอธิปไตยของประเทศนั้น ที่ไม่ก้าวล่วงกัน ทหารฝั่งไทยหรือฝั่งของเมียนมาจะไม่ข้ามไปอีกฝั่งของลำน้ำ เราเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน

เมื่อถามว่า โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุการใช้อากาศยานของเมียนมาข้ามมาฝั่งไทย จนเกิดผลกระทบจะไม่เกิดขึ้นใช่หรือไม่ พล.ท.สันติพงศ์ กล่าวว่า เป็นข้อระมัดระวังของกองกำลังป้องกันชายแดนของทุกประเทศอยู่แล้ว ที่จะพยายามไม่ให้เกิดสิ่งนี้

เมื่อถามว่า ผบ.ทบ.ได้ให้แนวทางกับกองกำลังชายแดนอย่างไร หากการใช้อาวุธในฝั่งเมียนมาข้ามเข้ามาฝั่งไทย พล.ท.สันติพงศ์ กล่าวว่า เชื่อว่า สถานการณ์น่าจะยังอีกไกล เพราะทางรัฐบาลเมียนมาประกาศหยุดยิง 1 เดือน สถานการณ์ในเมียนมาคงจะมีความเรียบร้อย

โฆษกกองทัพบก ยังกล่าวถึงกรณีการชุมนุมของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.ประกาศชุมนุมต่อเนื่องว่า กองทัพบกมีระเบียบวินัยสำหรับกำลังพล โดยกองทัพบกได้ออกคำสั่งที่ 388/2563 ที่กำหนดไว้ว่ากำลังพลสามารถทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง รวมถึงการโพชส์ข้อความตามโซเชียลต่างๆ เรามีข้อห้ามชัดเจนและหากกำลังพลกระทำผิด กองทัพบกก็ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน หากพบว่ามีความผิดก็ต้องได้รับโทษ หากเป็นความผิดทางวินัยก็ดำเนินการตามขั้นตอน แต่ถ้าไปเกี่ยวข้องกับคดีอาญาก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ขณะนี้ทหารทำได้เพียงการติดตามข้อมูลข่าวสารการชุมนุมเท่านั้น ยืนยันว่าการชุมนุมเป็นสิทธิของประชาชนที่สามารถทำได้ หากไม่ขัดต่อกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมา กรมกำลังพลทหารบกได้ออกคำสั่งได้ออกข้อควรปฏิบัติและข้อไม่ควรปฏิบัติของกำลังพลสังกัดกองทัพบก โดยอ้างอิงจาก 1. ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยข้าราชการกลาโหมกับการเมือง พ.ศ. 2499 2. คําสั่งกองทัพบกที่ 388/2563 ลง 9 ก.ย. 2563 เรื่อง แนวทางการดำเนินการต่อกำลังพลที่กระทำผิดและหากผู้ใดฝ่าฝืนข้อบังคับกระทรวงกลาโหมและคำสั่งกองทัพบกถือว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาทหารมาตรา 33, 11 และ 32 ตามแต่กรณี ทั้งนี้ กองทัพบกได้ทำโปสเตอร์ติดภายในพื้นที่กองบัญชาการกองทัพบก โดยระบุ สิ่งที่กำลังพลสามารถทำได้ดังนี้ 1. การสมัครเข้าเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใด ต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น จนถึงผู้บัญชาการทหารบกทราบ 2. การเข้าร่วมประชุมทางการเมืองในฐานะส่วนตัวได้ แต่ต้องไม่สวมเครื่องแบบและไม่ใช้ในเวลาราชการ 3. ปฏิบัติราชการในหน้าที่ด้วยการวางตนเป็นกลาง โดยไม่มุ่งหวังประโยชน์ของพรรคการเมืองใดโดยเฉพาะ แต่ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล 4. ลงคะแนนเสียง/แสดงความคิดเห็นส่วนตัวต่อผู้ลงสมัครได้ 5. การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองสามารถกระทำได้โดยไม่แต่งเครื่องแบบ และไม่ใช้เวลาราชการ ทั้งนี้ ในการเข้าร่วมชุมนุมในที่สาธารณะนั้นต้องเป็นไปอย่างสงบ

ส่วนสิ่งที่กำลังพลไม่สามารถกระทำได้ มีดังนี้ 1. ไม่กระทำการใดๆ อันมีลักษณะพาดพิง ส่อเสียด ล้อเลียน สถาบัน รัฐบาล และผู้บังคับบัญชา 2. ไม่แต่งเครื่องแบบหรือชุดอื่นใด รวมถึงใช้ตราสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นทหารเข้าร่วมประชุมกับพรรคการเมือง หรือไปร่วมชุมนุมในที่สาธารณะอันเป็นการประชุมที่มีลักษณะทางการเมือง 3. ไม่ประดับเครื่องหมายหรือแต่งเครื่องแบบของพรรคการเมืองเข้าไปในสถานที่ราชการ 4. ไม่บังคับผู้อยู่ในบังคับบัญชา ทั้งโดยตรงหรือโดยปริยายให้เป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใด และไม่กระทำการในทางให้คุณหรือให้โทษ 5. ไม่แทรกแซงในทางการเมืองหรือใช้การเมืองเป็นเครื่องมือเพื่อการทำกิจการต่างๆ 6. ไม่แสดงออกโดยตรงหรือโดยปริยายที่จะเป็นการช่วยเหลือสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งในระยะเวลา ที่มีการสมัครรับเลือกตั้ง 7. ไม่โพสต์ข้อความทางการเมืองในเวลาราชการในสถานที่ราชการ หรือใช้คอมพิวเตอร์ของราชการ รวมถึงห้ามใช้ account ของราชการร่วมกิจกรรมทางการเมืองบนสื่อสังคมออนไลน์


กำลังโหลดความคิดเห็น