กสม. แนะกรมธนารักษ์ และ จ.จันทบุรี เร่งแก้ข้อพิพาทกับราษฎรกรณีที่ดินราชพัสดุ “สนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่า” เน้นสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อหาข้อยุติที่เป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย
วันนี้ (3 เม.ย.) ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นตัวแทนราษฎรในพื้นที่หมู่ที่ 2-9 ตำบลท่าช้าง และตำบลวัดใหม่ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี เมื่อเดือนมกราคม 2564 กล่าวอ้างว่า ราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนจากการที่กรมธนารักษ์และธนารักษ์พื้นที่จันทบุรีคัดค้านการออกโฉนดที่ดินแปลง “สนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่า” จำนวน 4,375 ไร่ และประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ ทั้งที่ราษฎรได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมาแล้ว 3-4 รุ่น ทำให้ราษฎรกว่า 1,200 คน ได้รับความเดือดร้อน และถูกเร่งรัดให้เข้าสู่กระบวนการเช่าที่ดินราชพัสดุ จึงขอให้ กสม. ตรวจสอบ ซึ่งต่อมา เมื่อวันที่ 7-8 มีนาคม 2564 นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ในขณะนั้น) นายสมณ์ พรหมรส และ นางภิรมย์ ศรีประเสริฐ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและประชุมรับฟังความคิดเห็นร่วมกับราษฎรในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วนั้น
นายสมณ์ พรหมรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า หลังจากนั้น กสม. ในคราวประชุม เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 ได้พิจารณาเห็นว่า แม้หลักฐานของทางราชการ คำพิพากษาศาลฎีกา คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา และความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) เป็นไปในแนวทางเดียวกันว่า ที่ดินแปลงสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่าเป็นที่ราชพัสดุตามกฎหมายที่ใช้บังคับขณะนั้น แต่เนื่องจากมีคำพิพากษารายคดีทั้งกรณีพิพากษาว่าที่ดินแปลงสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่าเป็นที่ราชพัสดุตามกฎหมาย และคำพิพากษาที่ให้ราษฎรมีกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินแปลงดังกล่าว ประกอบกับมีข้อมูลว่าราษฎรบางส่วนครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวมาก่อนที่จะมีการหวงห้ามในปี 2458 ซึ่ง กสม. ได้พิจารณาหลักฐานหนังสือสั่งการจากสมุหเทศาภิบาลผู้สำเร็จราชการแทนมณฑลจันทบุรี ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี รวม 2 ฉบับ คือ หนังสือที่ 46/445 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2458 และหนังสือที่ 293/2113 ลงวันที่ 21 กันยายน 2458 แล้วมีข้อความในหนังสือสรุปได้ว่า “การขยายเขตให้ดำเนินการซื้อที่ดินที่มีผู้ครอบครองทำประโยชน์เดิมและปักหลักเขตหวงห้ามที่ดินส่วนที่รกร้างว่างเปล่าไว้” จึงน่าเชื่อว่าที่ดินแปลงหวงห้ามนี้ เคยมีบุคคลครอบครองทำประโยชน์มาก่อนตามที่กล่าวอ้างจริง ปัจจุบันราษฎรบางรายมีแบบการแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) มีโฉนดที่ดิน โฉนดตราจอง และเอกสารหลักฐานอื่นๆ ซึ่งจากการประชุมรับฟังข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการแก้ปัญหาของกรมธนารักษ์ ได้ชะลอการทำสัญญาเช่าไว้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 แล้ว
ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสามารถพิจารณาให้เป็นที่ยุติ เป็นธรรม และพึงพอใจจากทุกฝ่าย กสม. จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อทุกฝ่ายดังนี้
1. ธนารักษ์พื้นที่จันทบุรี ควรจัดทำแผนที่ทางกายภาพในที่ดินแปลงสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่า โดยให้ทำการรังวัดแปลงที่ดินโดยละเอียดรายแปลงทุกแปลง คำนวณเนื้อที่ และกำหนดตำแหน่งที่ดินลงในระวางแผนที่ พร้อมทำการสอบสวนการได้มาของที่ดินแต่ละแปลง เพื่อให้มีหลักฐานว่าราษฎรแต่ละรายครอบครองทำประโยชน์เมื่อไร เนื้อที่เท่าใด และให้ราษฎรที่มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมในการดำเนินการทุกขั้นตอน พร้อมทั้งให้จัดทำสารบบที่ดินเป็นรายแปลง ให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 90 วัน
ทั้งนี้ เมื่อจัดทำแผนที่กายภาพเสร็จแล้ว ให้จัดกลุ่มราษฎรที่ครอบครองที่ดินตามสภาพปัญหา เช่น กลุ่มราษฎรที่มีหลักฐานเป็นเอกสารสิทธิที่ทางราชการออกให้ และราษฎรที่ไม่มีเอกสารหลักฐาน เพื่อหามาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาให้ตรงตามสภาพต่อไป
2. กรมธนารักษ์ ควรจัดสรรงบประมาณ และอัตรากำลัง เพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนที่ทางกายภาพที่ดินแปลงสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่าเป็นกรณีเร่งด่วน และในระหว่างที่การจัดทำแผนที่ทางกายภาพยังไม่แล้วเสร็จเห็นควรให้กรมธนารักษ์ชะลอการทำสัญญาเช่าที่ราชพัสดุไว้ก่อนจนกว่าการแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จ
3. จังหวัดจันทบุรีควรกำกับดูแลการทำแผนที่กายภาพให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้การสนับสนุนในการลงพื้นที่จัดทำแผนที่กายภาพ พร้อมกันนี้ ควรจัดให้มีการประชาคมโดยให้ราษฎรในพื้นที่พิพาทเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าวเพื่อทำความเข้าใจถึงเหตุผลการจัดทำแผนที่ทางกายภาพ
4. ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนและมีส่วนได้เสีย ควรให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนที่ทางกายภาพ ซึ่งจะเป็นเอกสารหลักฐานสำคัญในการรักษาสิทธิประโยชน์ของตนเองได้
“ที่ดินแปลงสนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่า เป็นปัญหาข้อพิพาทที่ยืดเยื้อยาวนาน จนทำให้ราษฎรจำนวนมากได้รับผลกระทบด้านสิทธิในทรัพย์สินและการดำรงชีวิต เช่น การไม่สามารถขออนุญาตก่อสร้างบ้านเรือน หรือขอสาธารณูปโภคเพื่อการอยู่อาศัย ขณะที่กรมธนารักษ์เองก็ไม่สามารถบริหารจัดการและพัฒนาพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากข้อพิพาทสามารถยุติได้ ก็น่าจะเป็นรูปแบบการทำงานเชิงรุกอย่างมีส่วนร่วมของกรมธนารักษ์ที่เข้ามาแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน และอาจใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ราชพัสดุในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไปได้”