วันนี้ (29 มี.ค.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ขอให้สอบสวนและเอาผิดนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กรณีเข้าร่วมชุมนุมประท้วงกับกลุ่ม RE-DEM เมื่อ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา ที่บริเวณท้องสนามหลวงและถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นการจัดชุมนุมที่ฝ่าฝืนกฎหมายหลายฉบับ มีการทำลายและเผาป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในชาติบ้านเมือง เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหายและมีผู้บาดเจ็บสาหัสจำนวนมาก
นางอมรัตน์ มีสถานะเป็นถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ แต่กลับลดตัวลงมาคลุกคลีร่วมกิจกรรมการชุมนุมกับกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งๆ ที่ย่อมรู้ได้ว่าเป็นการจัดการชุมนุมที่ฝ่าฝืนกฎหมาย จึงถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ซึ่งตาม ป.อาญา ม.83 ระบุว่า ในกรณีความผิดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ซึ่งการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการฝ่าฝืน ม.14 แห่ง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 ฝ่าฝืน ม.9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ฝ่าฝืน ม.34(6) แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 รวมทั้งฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญา ม.116 ม.209 ม.210 และ ม.215 รวมทั้ง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง 2535 อีกด้วย
“หลังจากเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว นางอมรัตน์ ที่พยายามจะสื่อสารผ่านเฟซบุ๊กของตนว่าตนเองอยู่หน้าม็อบเสมอ ไม่ใช่เดี้ยหลังม็อบตามที่นายกรัฐมนตรีและสื่อมวลชนตั้งฉายาไว้ ซึ่งถือว่าเป็นประจักษ์พยานที่ตอกย้ำพยานหลักฐานว่าเป็นพฤติการณ์ที่อาจฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมฯ 2561 อย่างร้ายแรง ในข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 12 และข้อ 17 ซึ่งเป็นมาตรฐานทางจริยธรรม ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 ม.219 บัญญัติไว้” นายศรีสุวรรณกล่าว
ดังนั้น สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ในวันนี้ เพื่อขอให้ไต่สวนและมีความเห็นกรณีกรณี นางอมรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมสาธารณะอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหลายฉบับตามประมวลกฎหมายอาญา หรือมีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติขอให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย ตามครรลองของกฎหมายต่อไป