นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่สื่อสารมวลชนได้รายงานเป็นข่าวครึกโครมเป็นการทั่วไปว่า นายชัยวัฒน์ เป้าเปื่ยมทรัพย์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ ทำร้ายร่างกาย ผศ.นพพร ขุนค้า อาจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จนได้รับบาดเจ็บ ในร้านอาหาร 13 november ตรงข้ามสถานีรถไฟฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 27 มี.ค.64 ที่ผ่านมานั้น
การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิด “ฐานทำร้ายร่างกาย” ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.295 ความว่า “ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย หรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้าย ร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” หรืออาจเข้าข่ายความผิด “ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.391 ความว่า “ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ซึ่งเป็นหน้าที่ของตำรวจที่ผู้เสียหายไปแจ้งความดำเนินคดีแล้ว จะสอบสวนหาข้อเท็จจริง เพื่อวินิจฉัยว่าเข้าองค์ประกอบความผิดใดต่อไป
แต่อย่างไรก็ตามการที่นายชัยวัฒน์ เป็น ส.ส.ผู้ทรงเกียรติแต่กลับมีพฤติกรรมละเมิดกฎหมายอาญา โดยการทำร้ายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บย่อมต้องถูกสังคมครหาในทางลบถึงการกระทำที่เย้ยกฎหมายบ้านเมือง อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ม.291 ได้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมฯ 2561 ไว้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับ และลงโทษผู้ที่กระทำการฝ่าฝืน ซึ่งกรณีของนายชัยวัฒน์ ทำร้ายร่างกาย ผศ.นพพร จนได้รับบาดเจ็บนั้น อาจถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในข้อ 7 และข้อ 11 ข้อ 12 ข้อ 13 และข้อ 17 ประกอบข้อ 27 อีกด้วยอันเป็นการก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดํารงตําแหน่งโดยชัดแจ้ง
ด้วยเหตุดังกล่าวสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงนำความไปยื่นร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ในวันนี้ เวลา 10.00 น. เพื่อขอให้ไต่สวนและมีความเห็นในกรณีดังกล่าว อันเป็นการใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือไม่ อย่างไร หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติฯ ขอให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อพิพากษาลงโทษ ตามครรลองของกฎหมายต่อไป