xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีสุวรรณ” ร้อง กกต.วินิจฉัย อสม.ลงสมัครท้องถิ่นได้หรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศรีสุวรรณ” ร้อง กกต.วินิจฉัย อสม.ลงสมัครท้องถิ่นได้หรือไม่ พร้อมสอบผู้สมัครนายกเทศมนตรีขึ้นรูปบุคคลอื่นหวังอาศัยบารมีเพิ่มคะแนนตนเอง เข้าข่ายเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดเพื่อจูงใจหรือไม่ ก่อนหย่อนบัตร 28 มี.ค.นี้

วันนี้ (25 มี.ค.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้วินิจฉัยว่ากรณีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐเข้าข่ายไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกหรือผู้บริหารท้องถิ่นหรือไม่ โดยในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาลที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 มี.ค.นี้ พบว่ามีผู้สมัครที่เคยเป็นอดีต อสม.ลงสมัครจำนวนมาก โดยตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข อสม.จะได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 1,000 บาท และยังได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ รวมถึงสิทธิในการได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย ไม่ต่างอะไรจากข้าราชการ พนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 ได้กำหนดว่า ข้าราชการ พนักงานของรัฐจะมาสมัครเป็นสมาชิกหรือผู้บริหารองค์กรท้องถิ่นไม่ได้ รวมทั้งเห็นว่าหากให้ อสม.มีสิทธิสมัครจะก่อให้เกิดข้อได้เปรียบกับงผู้สมัครทั่วไปที่ไม่ได้เป็น อสม. เนื่องจาก อสม.ใช้เงินของรัฐมาดำเนินการสร้างปฏิสัมพันธ์ช่วยเหลือประชาชนมาโดยตลอด เมื่อมาสมัครเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นก็จะได้เปรียบ กกต.จึงควรวินิจฉัยเรื่องนี้ออกมาให้ชัดเจน

นอกจากนี้ยังขอให้ กกต.ตรวจสอบกรณีผู้สมัครนายกเทศมนตรีนำรูปของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้สมัครมาขึ้นคู่กับป้ายหาเสียงของตนว่าเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 มาตรา 65 (1) (5) หรือไม่ โดยพบกรณีดังกล่าวในพื้นที่ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ที่นายอนุรักษ์ พงษ์สาลี ผู้สมัครนายกเทศมนตรี เบอร์ 2 ได้นำรูปของทีมงาน 2 ราย คือ นางศิศิธร ศรีเพ็ง และนายนคร พิริยะโภคานนท์ ซึ่งไม่ได้เป็นผู้สมัคร แต่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในท้องถิ่น และเป็นบุคคลที่นายอนุรักษ์นำเสนอว่าหากตนได้รับเลือกตั้งก็จะแต่งตั้งทั้งสองคนเป็นรองนายกเทศมนตรี จึงเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของนายอนุรักษ์เป็นการหวังจะได้คะแนนจากฐานเสียงของบุคคลทั้งสองมาสนับสนุนให้ตนเองได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี ซึ่งเข้าข่ายเป็นการจัดเตรียมเพื่อจะให้ผลประโยชน์อื่นใดแก่ผู้ใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงให้กับตนเองตามมาตรา 65 (1) และ ( 5)

จึงอยากให้ กกต.วินิจฉัยทั้งสองประเด็นนี้ให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งสมาชิกและนายกเทศมนตรี เพราะหากเป็นความผิดก็จะได้ตัดสิทธิผู้สมัครก่อนการลงคะแนน ก็จะได้ไม่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ในภายหลัง รวมทั้งจะได้เป็นบรรทัดฐานในการลงสมัครและการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยาต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น