xs
xsm
sm
md
lg

โฆษกศาลปกครองมองต่าง มติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดไม่ใช่ระเบียบจึงไม่ต้องประกาศราชกิจจาฯ-ส่งสภาให้ความเห็นชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (18 มี.ค.) ที่สำนักศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ นายประวิตร บุญเทียม โฆษกศาลปกครอง ให้สัมภาษณ์กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ามติที่ประชุมใหญ่ในตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่กำหนดให้การนับอายุความฟ้องคดีปกครองตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มี.ค. 2544 มาใช้อ้างอิงในคดีสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ เข้าข่ายเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญว่า มติศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นเพียงการชี้ว่าที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดไม่ได้ดำเนินการนำมติที่ประชุม เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2556 มาออกเป็นระเบียบตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 5 ที่กำหนดว่า บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศที่ออกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด หรือ ก.ศป. โดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดว่าระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดตามมาตรา 44 และมาตรา 66 ต้องส่งให้สภาผู้แทนราษฎรในวันที่ออกระเบียบดังกล่าวเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบได้ ส่วนประเด็นอื่นที่เกี่ยวกับผลการชี้ขาดแห่งคดี ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัย 

ฉะนั้น ต้องดูคำวินิจฉัยฉบับเต็มก่อนว่าประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยครอบคลุมไปลึกแค่ไหน เพราะที่ผ่านมา ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดใช้หลักปฏิบัติเดียวกับที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาของศาลยุติธรรม เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 68 ที่กำหนดว่า กรณีประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นสมควรที่จะให้มีการวินิจฉัยปัญหาใด คดีใด ให้เสนอที่ประชุมใหญ่พิจารณา โดยที่ผ่านมาหากประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าคดีนั้นมีปัญหา หรือเป็นคดีสำคัญ หรือเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์สูงก็จะนำเข้าที่ประชุมใหญ่พิจารณาข้อเท็จจริงในคดีนั้นซึ่งทำกันเกือบทุกเดือน มีเป็นร้อยเรื่อง โดยไม่ได้มองว่าเป็นระเบียบที่ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือต้องส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบตามมาตรา 5 มาตรา 6 ดังนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเช่นนี้ จึงต้องดูว่ามตินี้เป็นระเบียบเพราะอะไร


กำลังโหลดความคิดเห็น