วันนี้ (15 มี.ค.)นายธวเดช ภาจิตรภิรมย์ หัวหน้ากลุ่มแนวทางใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์ของเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ต้องยอมรับว่าตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 ระบาด กิจการขนาดเล็กปิดตัวไปจำนวนไม่น้อย เหตุผลเพราะเราจำเป็นต้องจำกัดการกระจายของเชื้อโรค จึงต้องสร้างระยะห่างให้มากๆ มีคนให้น้อยๆ แต่กลายเป็นว่าคนยิ่งน้อยเศรษฐกิจก็ยิ่งพัง นี่คือสิ่งสวนทางกันระหว่างเศรษฐกิจกับสาธารณสุขที่ต้องหาสมดุลให้ดี อีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังทยอยล้มหายตายจากไปก็คือ บรรดาธุรกิจเอสเอ็มอีสตาร์ทอัพทั้งหลาย เพราะเหล่านี้ไม่มีสายป่านที่ยาวนัก หากเจอสภาพชะงักงันยาวๆแต่รายจ่ายยังปกติก็ยืนระยะยาก ตนในฐานะคนทำธุรกิจ เข้าใจดีว่าข้อจำกัดของผู้ประกอบกิจการคืออะไร สิ่งสำคัญที่เป็นตัวกำหนดว่า ธุรกิจจะไปทิศทางใด อยู่ได้หรือไม่ก็คือ ‘เงินทุน’ แต่ภาวะที่เศรษฐกิจแบบนี้ทุกอย่างยิ่งยากเป็นสองเท่า กิจการก็จะล้อม ธนาคารก็ไม่ให้วงเงินอีกเพราะสถานการณ์แบบนี้ทำธุรกิจอะไรเขาก็มองว่าเสี่ยงทั้งนั้น ยากเหลือเกินที่จะปล่อยสินเชื่อให้ โดยกลุ่มแนวทางใหม่มองเห็นและให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว และเห็นว่าเรื่องปากท้องเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ประเทศจะฟิ้นจากวิกฤติโรคระบาดได้หรือไม่ส่วนนึงต้องเริ่มจากการฟิ้นฟูเศรษฐกิจ ดังนั้น ต่อให้เจอปัญหาเราก็ต้องหาทางทะลุมันไปให้ได้ คนไทยเรามันเลือดนักสู้อยู่แล้ว ตั้งแต่เกิดมาเราได้ยินแต่คำว่าเศรษฐกิจไม่ดีมาตลอด เราก็ผ่านมาได้จนตอนนี้ ดังนั้นสู้ต่อไป
“เรามักมีคำถามมาโดยตลอดว่าแล้วเมื่อไรเศรษฐกิจประเทศนี้จะดี ซึ่งผมคิดว่าหากจะพูดกันอย่างตรงไปตรงมา คำตอบว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับว่าเราคุยกับใครด้วย อันนี้ไม่ได้พูดกวนๆ แม้กระทั่งตอนนี้หากไปสอบถามดูก็ได้ บางคนบอกเศรษฐกิจดีจะตาย ดูสิเวลามีสินค้าใหม่ๆออกมาคนไทยแห่ไปรอซื้อ แต่ถ้าไปถามอีกคนเขาอาจบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดีเลย ของขายไม่ได้ เงินจะส่งลูกเรียนยังไม่พอ ซึ่งตรงนี้เองที่เราจะเห็นถึงปัญหาสำคัญที่ซ่อนอยู่นั่นก็คือ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ เพราะเอาเข้าจริงเศรษฐกิจที่ดีอาจกระจุกตัวที่บางคนบางกลุ่มมากกว่าที่จะกระจายออกไป และโอกาสเหล่านั้นมักอยู่ในมือของคนที่มีความพร้อมมากกว่าทั้งเงินทุน ความรู้ หรือกระทั่งคอนเนคชั่น” นายธวเดช กล่าว
นายธวเดช กล่าวต่อว่า ไม่ได้หมายความว่า พี่ป้าน้าอาที่มีอาชีพขายของในตลาด ไม่มีความพร้อม เพียงแต่อาจต้องเติมเครื่องมือบางอย่างลงไปช่วยในการปรับภูมิทัศน์ในการค้าขายลงไป ซึ่งต้องเป็นเครื่องมือที่เรียนรู้ง่าย เข้าถึงได้ง่าย และก่อให้เกิดเป็นระบบเครือข่ายประสานกันนั่นเอง และนี่ก็เป็นสิ่งตนมุ่งหวังและเป็นอีกหนึ่งภาระกิจในการทำงานการเมืองในครั้งนี้ เพราะการยกระดับปากท้องของพ่อแม่พี่น้องคนหาเช้ากินค่ำให้ได้มีโอกาสในการทำมาหากินไม่น้อยไปกว่านักธุรกิจที่มีความพร้อมในระดับข้างบนขึ้นไป สำหรับตนหากพูดว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดีจะต้องวัดกันที่พ่อแม่พี่น้องที่ขายของในตลาดนัดได้หรือไม่ นั่นคือวัดค่าจากสภาพความเป็นจริง เพื่อไปสู่การแก้ไขให้ตรงจุด
นอกจากนี้ นายธวเดช ยังกล่าวต่อว่า สำหรับตนคู่แข่งของพ่อค้าแม่ค้าในตลาดนัด จะต้องไม่ใช่แผงข้างๆหรือแผงตรงข้าม แต่ต้องเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตในชุมชน ห้าง หรือร้านสะดวกซื้อชื่อดังดังที่เปิดขึ้นมาแข่งในทุกแทบทุกหัวมุมเสาไฟฟ้าต่างหาก การช่วงชิงตลาดนี้ ในความหมายของผมคือการสร้างตลาดของพ่อค้าแม่ค้าที่เชื่อมโยงกันก่อนจะไปมองหาสินค้าในตลาดของคนอื่นเพื่อสนับสนุนการหมุนเวียนเศรษฐกิจชุมชนด้วยเทคโนโลยี เพื่อเติมความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจระดับชุนชน สร้างมีโอกาสเพิ่มในการค้าขายที่เร็วและเข้าถึงมากว่าการนั่งเฝ้าแผงซึ่งเป็นรูปแบบเดิมของตลาดที่เราเคยรู้จัก
“สิ่งที่ผมตั้งใจไว้หรืออยากเสนอไว้ก็คือ ภาพของการเชื่อมคอนเนคชั่นของชุมชนผ่านเทคโนโลยีเพื่อจัดให้เกิด ‘ตลาดออนไลน์ของชุมชน’ ให้เกิดขึ้นในแต่ละชุมชน รวมถึงการยกระดับบรรจุภัณฑ์ของสินค้าเพื่อสร้างจุดสนใจมากขึ้นทางการตลาดเพื่อเปิดโอกาสให้กับตลาดใหม่ๆ เพราะเวลานี้ต้องยอมรับความจริงว่า วิถีชีวิตของผู้คนแม้จะอยู่ในต่างจังหวัด แต่ ‘ไลฟ์สไตล์’ ก็ได้เปลี่ยนไปแทบไม่แตกต่างจากการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ที่ความสะดวกสบายต้องมาเป็นอันดับแรก ดังนั้น หากสามารถพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เท่าทันเทคโนโลยีและสอดรับกับวิถีชีวิตใหม่ได้ ก็จะเป็นตัวเลือกที่เพิ่มโอกาสทางการค้าให้พ่อค้าแม่ค้า สร้างการหมุนเวียนของเศรษฐกิจภายในให้ไม่ถูกช่วงชิงไปได้ง่ายโดยผู้เล่นรายใหญ่ และดีไม่ดีจะสามารถท้าชนผู้ประกอบการายใหญ่ต่อไปได้ด้วยนะครับ” นายธวเดช กล่าวทิ้งท้าย