เมื่อวันที่ 9 มี.ค. เวลา 10. 00 น. นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมกำกับติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ ห้องประชุมที่ทำการชุมชนกองขยะหนองแขม เขตหนองแขม โดยได้ถ่ายทอดนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งได้เล็งเห็นปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจังโดยภาครัฐต้องร่วมมือกับชุมชนจึงจะประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง โดยมี นายสุนทร ชื่นศิริ ผอ.ป.ป.ส.กทม. ผู้แทนสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร นายสรสิช เหลืองรุ่งเกียรติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตหนองแขม พ.ต.อ.นครินทร์ สุคนธวิท รอง ผบก.น. 9 พ.ต.อ. ศุภัทร ศุภกำเนิด ผู้กำกับการ สน.หนองค้างพลู พร้อมด้วย ประธานชุมชน คณะกรรมการเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินเขตหนองแขม ศูนย์บริการสาธารณสุข คณะผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ส.กทม. และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมประชุม และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติด รวมทั้งร่วมรับฟังรายงานสถานการณ์ปัญหายาเสพติดและผลการดำเนินงานด้านการปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่
นายสามารถ กล่าวว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ได้มีข้อสั่งการในการปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มข้นเป็นระยะ ซึ่งสอดรับกับนโยบายของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยมุ่งเน้นการจัดการเครือข่ายยาเสพติด และการยึดทรัพย์สินที่ได้จากการค้ายาเสพติด ตลอดจนการผลักดันให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายยาเสพติดโดยมีกองทุนแม่ของแผ่นดิน ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงพระราชทานทุนประเดิมเพื่อให้สำนักงาน ป.ป.ส.นำไปใช้ประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน โดยในปี 2557 สำนักงาน ป.ป.ส.ได้นำพระราชทรัพย์พระราชทานดังกล่าวสมทบกับงบประมาณของสำนักงาน ป.ป.ส. จัดตั้งเป็น “กองทุนแม่ของแผ่นดิน” เพื่อเป็นทุนตั้งต้นที่จะรวมพลังและศรัทธาของประชาชน และหน่วยงาน/องค์กรภาคีทุกภาคส่วนที่มีต่อพระองค์ แปลงให้เป็นพลังความร่วมมือในการจัดการกับปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชนและถือเป็นยุทธศาสตร์พระราชทานที่เป็นศูนย์รวมจิตใจที่สำคัญของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน โดยเป็นเงื่อนไขกระตุ้นความตื่นตัวในการทำความดี ปกป้องรักษาชุมชนให้มีความเข้มแข็งพึ่งตนเองมากยิ่งขึ้น และเป็นแบบอย่างของการบูรณาการเอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืนเข้ากับกระบวนการพัฒนาทำให้ชุมชนได้เรียนรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ชีวิตและชุมชนเกิดความเข้มแข็ง
“หัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหายาเสพติด คือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ที่จะต้องช่วยกันสอดส่อง เฝ้าระวังชุมชนของตนเอง เพราะชุมชนที่เข้มแข็งคือภูมิคุ้มกันยาเสพติดที่ดีที่สุด หากสมาชิกในชุมชนทุกคนร่วมใจกันสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโครงการจิตอาสาพระราชทานเพื่อให้คนไทยทุกคนมีความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์เพื่อพัฒนาชุมชนต่างๆ ให้มีความเจริญ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนอย่างถาวร เช่น การเฝ้าระวังชุมชนของตนเองให้ปลอดยาเสพติด การดูแลผู้ที่ผ่านการบำบัดฟื้นฟู การฝึกอาชีพเพื่อสร้างรายอย่างยืน เพื่อมิให้ผู้เสพ กลับเข้าไปอยู่ในวังวนของยาเสพติด หรือกลับไปเสพซ้ำ ก็จะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง และส่งผลให้ประเทศชาติเดินต่อไปได้ แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหา คือ การเสพติดรายได้ที่มาจากการค้าขายยาเสพติด ซึ่งต้องใช้กลไกของกฎหมายที่เข้มงวดเข้ามาจัดการ โดยมุ่งเน้นการยึดทรัพย์สินตามมูลค่าของยาเสพติดเพื่อเป็นการตัดวงจรการค้ายาเสพติดได้อย่างยั่งยืน โดยขณะนี้ กฎหมายยาเสพติดอยู่ระหว่างการนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแล้ว” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม กล่าว
ภารกิจหลักของกระทรวงยุติธรรม คือ การอำนวยความยุติธรรมครอบคลุมทุกมิติให้กับประชาชนทุกภาคส่วน ภายใต้แนวคิด “ยุติธรรมเชิงรุก สร้างสุขให้ประชาชน” ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดต่อกระทรวงยุติธรรมผ่านสายด่วนโทร. ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง โทร.1111 กด 77
หลังจากนั้น ผู้ช่วยรัฐมนตรีและคณะร่วมฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติด รับฟังรายงานสถานการณ์ปัญหายาเสพติดและผลการดำเนินงานด้านการปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ พร้อมมอบสื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ และน้ำดื่ม สำนักงาน ป.ป.ส. ให้แก่ชุมชนอีกด้วย