วันนี้ (8 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น. ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานประชุมวิป 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว. เพื่อกำหนดเงื่อนเวลาเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 โดยภายหลังการประชุม นายชวนกล่าวว่า เบื้องต้นที่ประชุมกำหนดการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 17-18 มี.ค. แต่คงต้องรอดูว่าพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมรัฐสภาวิสามัญจะลงมาทันในวันที่ 12 มี.ค.หรือไม่ เพราะรัฐบาลคงรอดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 11 มี.ค.ก่อนแล้วจึงกราบบังคมทูลพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ถ้าพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวลงมาทันในวันที่ 12 มี.ค.ก็สามารถเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 17-18 มี.ค.ได้ แต่ถ้าลงมาไม่ทันในวันที่ 12 มี.ค.คงต้องเลื่อนประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญไป 1 สัปดาห์ อาจเปิดประชุมได้ในวันที่ 24-25 มี.ค. ส่วนกระแสข่าว ส.ว.จะคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 นั้น ขอให้รอดูความจริงก่อน อย่าเพิ่งไปกังวล เชื่อว่าทุกฝ่ายมีความรู้ความเข้าใจต่อสถานการณ์บ้านเมือง หวังว่าทุกฝ่ายจะใช้เหตุผลตัดสินใจ
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ถ้าพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญประกาศได้ทันวันที่ 12 มี.ค.จะเปิดประชุมวิสามัญได้ในวันที่ 17-18 มี.ค. แต่ถ้าประกาศไม่ทันวันที่ 12 มี.ค.คงต้องเลื่อนไปเปิดประชุมวิสามัญเป็นสัปดาห์ต่อไป เว้นแต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 11 มี.ค. อาจทำให้รัฐบาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องเปิดประชุมรัฐสภาวิสามัญก็อาจไม่ส่งเรื่องขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญขึ้นไป
ทั้งนี้ ฝ่ายค้านยังไม่ได้เตรียมอะไร หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ขอรอฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 11 มี.ค.ก่อน ถ้าดูแนวทางแล้วน่าจะออกมาได้หลายทาง เช่น 1. วินิจฉัยว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจแก้มาตรา 256 ให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ 2. วินิจฉัยให้รัฐสภามีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญได้ แต่มีเงื่อนไขต้องทำประชามติถามความเห็นชอบประชาชนก่อน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน การจะทำประชามติได้นั้น ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเสร็จสิ้นวาระ 3 แล้วเท่านั้น ไม่สามารถทำประชามติก่อนวาระ 3 ได้ ไม่มีร่างกฎหมายใดรองรับให้ทำประชามติก่อนวาระ 3 หลังจากนี้ฝ่ายค้านคงต้องหารือทางออกกันอีกครั้ง หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เรื่องการแก้ไขเป็นรายมาตราเป็นแนวทางที่พิจารณาอยู่ เพราะครั้งที่แล้วฝ่ายค้านก็เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไป 5 ฉบับ แต่ถูกตีตกไป 4 ร่าง เช่น การแก้ไขเรื่องบัตรเลือกตั้ง การแก้ไขมาตรา 270 ซึ่งร่างที่ถูกตีตกไปเหล่านี้คงต้องรอสมัยประชุมใหม่จึงจะยื่นร่างใหม่ได้