“วิษณุ” ชี้มัวรอฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ ถึงอย่างไรต้องเปิดประชุมสมัยวิสามัญ อย่างน้อยเข็นกฎหมายประชามติก่อน
วันนี้ (5 มี.ค.) เมื่อเวลา 09.40 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีรัฐสภามีหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อขอให้ออกพระราชกฤษฎีกาเปิดและปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญว่า ภายใน 1-2 วันนี้ รัฐสภาและรัฐบาลจะต้องมีการหารือกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อนวันที่ 11 มี.ค.ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมา เพื่อประสานกับทางสภาว่าจะยืนยันที่จะขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญระหว่างวันที่ 17-18 มี.ค.อยู่หรือไม่ แต่ถึงอย่างไรเชื่อว่าวันเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญจะเป็นวันที่ 17-18 มี.ค. แต่วันปิดประชุมจะต้องชัดเจนว่าเป็นวันที่ 18 หรือ 19 มี.ค. เพราะหากรอวันที่ 11 มี.ค.เพื่อให้ศาลมีคำวินิจฉัยออกมาก่อนคงไม่ทัน จึงต้องประสานให้ชัดเจนก่อนว่าสภาจะเอาอย่างไร
เมื่อถามว่า วันที่ 11 มี.ค. ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยจะถูกนำมาเป็นเงื่อนไขในการขอเปิดและปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน ถึงอย่างไรก็ต้องขอเปิดไว้ก่อน เพราะถ้ารอเกรงว่าจะไม่ทัน
เมื่อถามถึงกรณีมี ส.ว.ออกมาแสดงท่าทีว่าจะคว่ำการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 อย่างนี้ถือว่าผิดหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เห็นมีพูดเป็นบางคน แต่คนก็มีตั้ง 250 คน ยังต้องดูกันต่อไป การแสดงท่าทีเช่นนี้ไม่ได้ถือว่าเป็นความผิดแต่อย่างใด สื่อไปถามท่านก็ต้องพูด
เมื่อถามว่า หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกคว่ำจะมีผลต่อรัฐบาลอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะยังไม่เห็นว่าจะกระทบอะไรโดยตรง เมื่อถามว่า หากจะต้องกลับมาแก้ไขกันเป็นรายมาตราจะต้องเริ่มอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ยาก แค่ไปตกลงกันให้ได้ว่าจะแก้มาตราไหนเท่านั้น แล้วให้ฝ่ายกฎหมาย คือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยยกร่างให้ แต่จะเป็นรายมาตราก็ไม่ควรที่เป็นมาตราที่จะนำไปสู่การลงประชามติ เพื่อที่จะได้เร็ว ก่อนหน้านี้เคยมีการพูดคุยกันแล้วว่าควรจะเป็นมาตราไหน อยู่ 2-3 มาตรา ส่วนจะเป็นมาตราไหนบ้างจะต้องพูดคุยกันอีกทีเพื่อให้ได้ข้อยุติ
เมื่อถามว่า หากจะต้องแก้ในมาตราที่ต้องทำประชามติ จะเสร็จทันในอายุรัฐบาลหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เกี่ยวอะไรกับอายุรัฐบาล แต่ข้อสำคัญถ้าจะต้องทำประชามติเราก็ต้องเข็นกฎหมายประชามติออกมาให้ได้ก่อน ดังนั้น ตนจึงบอกว่าในที่สุดการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญก็ต้องมีขึ้นอยู่ดีเพื่อพิจารณากฎหมายประชามติ เพราะเผื่อจะต้องทำประชามติจะได้ใช้กฎหมายดังกล่าวได้ ไม่เช่นนั้นมัวแต่รอไปรอมา หากจะต้องทำประชามติแล้วไม่มีกฎหมายประชามติ จะเสียเวลาหนักเข้าไปอีก