อดีต ส.ก.ปชป.เรียกร้อง กทม.เร่งทบทวนโครงการปรับผิวถนนเยาวราชเหลือ 3 เลน เตรียมนำผู้ประกอบการพบ “ผู้ว่าฯ อัศวิน”
วันนี้ (7 มี.ค.) นายพินิจ กาญจนชูศักดิ์ อดีต ส.ก.เขตสัมพันธวงศ์ พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมแถลงข่าวที่พรรคประชาธิปัตย์ว่า ตามที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีโครงการปรับปรุงฟื้นฟูสตรีทฟูดและถนนแห่งการเดินเยาวราช โดยจะดำเนินการขยายบาทวิถีให้กว้างขึ้น แต่เนื่องจากถนนเยาวราชเป็นถนนขนาด 5 เลน แต่ละวันประสบปัญหาการจราจรติดขัดอยู่แล้ว ดังนั้น หาก กทม.ดำเนินการก่อสร้างบาทวิถีโดยการลดพื้นผิวถนนจาก 5 เลน เหลือ 3 เลน เพื่อมาก่อสร้างเป็นทางเท้าเพิ่มเติมทั้งสองฝั่ง ตั้งแต่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ถึงสะพานเหล็ก คลองโอ่งอ่าง จะสร้างผลกระทบให้พี่น้องประชาชนที่ประกอบธุรกิจ และพักอาศัยอยู่บริเวณตึกแถว และประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นและบริเวณใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก
“เมื่อลดผิวจราจรจาก 5 เลน เหลือ 3 เลนแล้ว ผู้ขายสินค้าบนถนนเยาวราชจะได้รับผลกระทบ โดยปกติทั่วโลกไม่มีใครเขาทำกัน โดยเฉพาะถนนหลัก มีแต่จะขยายถนนให้กว้างขึ้นเพื่อรองรับจราจร ถนนเยาวราชเป็นถนนหลัก แต่ละวันมีรถผ่านเพื่อขึ้นสะพานพระปกเกล้า สะพานพุทธ เป็นจำนวนมาก แต่วันนี้โครงการของ กทม.ที่จะดำเนินการนี้ไม่มีการสอบถามพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บนถนนเยาวราช อีกทั้งตำรวจจราจรทั้ง 2 สน.ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในพื้นที่ก็ไม่เห็นด้วย”
นอกจากนี้ นายพินิจยังตั้งข้อสังเกตถึงการทำประชามติของสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์เกี่ยวกับโครงการว่า เป็นการใช้แบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างเพียง 200 คนเท่านั้น อีกทั้งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพหาบเร่ แผงลอยซึ่งเป็นกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าวมากกว่าผู้อาศัยบริเวณตึกแถว
ดังนั้น นายพินิจพร้อมด้วยนักธุรกิจ พ่อค้าแม่ค้าที่ทำมาค้าขายย่านเยาวราชจำนวนหนึ่งจะได้รวบรวมปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อขอเข้าพบและร่วมปรึกษากับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในวันจันทร์ที่ 8 มี.ค.นี้ ทั้งนี้ นายพินิจระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้เคยมีการสอบถามเรื่องโครงการขยายถนนเยาวราชกับผู้ว่าฯ กทม. แต่ผู้ว่าฯ กทม.ตอบว่าไม่ทราบเรื่อง ขณะที่โครงการดังกล่าว นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้นำเสนอ และมีการจัดประชุมที่เขตสัมพันธวงศ์เพียง 2 ครั้ง ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยไม่มีการเรียกพี่น้องประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการมาร่วมพูดคุยแต่อย่างใด จึงอยากเรียกร้องให้ กทม.ทบทวนโครงการดังกล่าวโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่มากกว่ากลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง