xs
xsm
sm
md
lg

คกก.ยุทธศาสตร์ฯ ไฟเขียวขับเคลื่อนติดตามกิจกรรม Big Rock หนุนยุทธศาสตร์ระดับพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกฯ (แฟ้มภาพ)
โฆษกรัฐบาล เผย คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินกิจกรรม Big Rock พร้อมเห็นชอบแนวทางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในระดับพื้นที่ เตรียมนำเสนอ ครม. พิจารณา

วันนี้ (26 ก.พ.) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 1/2564 ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม ณ ทำเนียบรัฐบาล ได้มีมติรับทราบและเห็นชอบในเรื่องที่สำคัญ ดังนี้

คณะกรรมการรับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2563 และรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศประจำปี 2563 โดยรายงานดังกล่าวระบุความก้าวหน้าปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการดำเนินการ จึงเป็นข้อมูลสำคัญประกอบการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐในทุกระดับและทุกพื้นที่เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติได้ตามที่กำหนด รวมทั้งการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินการดำเนินงานของคณะกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการจึงได้มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. (สำนักงานฯ) เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินงานต่างๆ ให้สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดได้อย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ คณะกรรมการมีมติรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) โดยนายกรัฐมนตรี มีบัญชามอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) โดยมีกลไกเชิงปฏิบัติ 3 ระดับ ได้แก่ 1) กลไกระดับอำนวยการ (ระดับจังหวัด) 2) กลไกอำนวยการปฏิบัติการ (ระดับอำเภอ) และ 3) กลไกระดับปฏิบัติการ (ระดับท้องถิ่น) โดย ศจพ. ทุกระดับจะใช้ข้อมูลจากระบบ TPMAP เป็นข้อมูลหลักในการดำเนินการการขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการพัฒนาคนทุกช่วงวัย ในทั้ง 4 แนวทางการขับเคลื่อน ได้แก่ 1) เติมเต็มข้อมูลในระบบ TPMAP ให้ครอบคลุมประเด็นการพัฒนาทุกมิติและทุกพื้นที่ในประเทศ 2) ร่วมแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในระดับบุคคล/ครัวเรือน 3) ร่วมแก้ไขปัญหาและพัฒนาคนอย่างยั่งยืน และ 4) ร่วมติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล โดยที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงการชี้เป้าและจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งการมีส่วนร่วมและทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการของทุกภาคีพัฒนาโดยเฉพาะในระดับท้องที่ ซึ่งเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญของการพัฒนาคนทุกช่วงวัยและการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำให้ประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน

คณะกรรมการได้พิจารณาให้ความเห็นชอบเรื่องสำคัญ จำนวน 3 เรื่อง ดังนี้

(1) แผนขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบหลักการแผนขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock ทั้ง 62 กิจกรรม โดยองค์ประกอบของแผนขับเคลื่อนฯ ประกอบด้วย หน่วยงานร่วมดำเนินการ เป้าหมายย่อย ระยะเวลาที่แล้วเสร็จ และโครงการ/การดำเนินงานที่ส่งผลต่อเป้าหมายของกิจกรรม Big Rock รวมทั้งเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินกิจกรรม Big Rock เพื่อการบรรลุเป้าหมาย เพื่อให้กิจกรรม Big Rock สามารถได้รับการขับเคลื่อน ติดตาม และประเมินผลได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย 1) การจัดลำดับความสำคัญของโครงการ/การดำเนินงานรองรับกิจกรรม Big Rock 2) เร่งรัดการดำเนินงานของหน่วยงานรับผิดชอบหลักและหน่วยงานร่วมดำเนินการ และ 3) การติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ผ่านระบบ eMENSCR โดยมอบหมายให้ สำนักงานฯ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ มอบหมายสำนักงานฯ นำเสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทั้งในส่วนของหลักการแผนขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock และแนวทางการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินกิจกรรม Big Rock ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป

(2) การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในระดับพื้นที่ คณะกรรมการได้เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในระดับพื้นที่ ตามที่สำนักงานฯ เสนอ โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนฯ 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1) แผนในระดับพื้นที่ต้องตอบสนองต่อเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและความต้องการของพื้นที่ โดยจะต้องสามารถถ่ายระดับเป้าหมายจากยุทธศาสตร์ชาติตามหลักความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล (Causal Relationship : XYZ) โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องศึกษาทำความเข้าใจเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับที่ 2 เพื่อให้เข้าใจและตระหนักถึงทิศทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องการบรรลุในแต่ละห้วง 5 ปี ของการพัฒนา 2) การจัดทำโครงการ/การดำเนินงานในระดับพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับพื้นที่ให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 และวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 รวมทั้งนโยบาย หลักเกณฑ์ และแนวทางในการจัดทำโครงการตามที่ ก.บ.ภ. และ ก.น.จ. กำหนด และ 3) การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ โดยใช้ระบบ eMENSCR เป็นระบบหลักในการดำเนินการสำหรับการนำเข้าโครงการ/การดำเนินงานและแผนในระดับพื้นที่ เพื่อหน่วยงานของรัฐใช้ข้อมูลจากระบบ eMENSCR ในการพิจารณาจัดทำโครงการ/การดำเนินงานบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อให้เป็นไปตามหลักการวงจรนโยบายสาธารณะ (Policy Cycle) ต่อไป โดยที่ประชุมได้มอบหมายสำนักงานฯ นำผลการพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป รวมทั้งดำเนินการชี้แจงและสร้างความเข้าใจให้กับหน่วยงานในระดับพื้นที่เพื่อให้การแปลงยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับที่ 2 ต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติสามารถเป็นไปได้อย่างบูรณาการ สอดรับโจทย์การพัฒนาประเทศพร้อมทั้งตอบสนองความต้องการในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม

(3) การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ คณะกรรมการฯ เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ ตามที่สำนักงานฯ เสนอ โดยแนวทางการดำเนินการใช้หลักการความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล (XYZ) และวงจรนโยบายสาธารณะ (Policy Cycle) ซึ่งทุกกระบวนการจะต้องเป็นการดำเนินงานที่มีข้อมูลสนับสนุน (data driven) และอยู่บนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ (evidence base) ประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่ 1) การจัดทำและพัฒนาข้อมูลสถิติ สถานการณ์ งานวิจัย และอื่นๆ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทฯ รวมทั้งนำเข้าข้อมูลดังกล่าวเสร็จในระบบฐานข้อมูลเปิดภาครัฐ เพื่อสนับสนุนการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ (Open-D) 2) การจัดทำโครงการ/การดำเนินงาน โดยใช้ข้อมูล สถิติ สถานการณ์ งานวิจัย มาประกอบในการจัดทำโครงการ/การดำเนินงาน และใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องและเหมาะสมต่อไป 3) การจัดทำแผนระดับที่ 3 ให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 และคู่มือแนวทางการจัดทำแผนและการเสนอแผนระดับที่ 3 ในส่วนของแผนปฏิบัติการด้าน...ต่อคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด และ 4) การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ (eMENSCR) ให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2562 เพื่อให้การดำเนินการแปลงยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐในห้วงระยะเวลาที่เหลือของยุทธศาสตร์ชาติสามารถเป็นการดำเนินการบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ มอบหมายสำนักงานฯ นำผลการพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น