นายกรัฐมนตรีห่วงใยปัญหาขยะทะเล พบจำนวนมากยังไม่ได้รับการกำจัดถูกวิธี จนสร้างปัญหาระบบนิเวศ สั่งคุมเข้มกรณีลักลอบนำขยะไปทิ้งทะเลต้องลงโทษเด็ดขาด แนะดูแลสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวกับดูแลธรรมชาติ
วันนี้ (12 ก.พ.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้รับรายงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทราบว่า ปัจจุบันได้มีกิจกรรมการใช้ประโยชน์ทรัพยากรพื้นที่ชายฝั่งเพิ่มขึ้นมาก ทั้งในส่วนของเกษตรกรรม การท่องเที่ยวทางทะเล การขนส่งและพาณิชย์นาวี และชุมชนชายฝั่งจน ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมมากขึ้นด้วย จึงมีข้อห่วงใยและมีข้อสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อการดูแลทรัพยากรธรรมชาติที่เข้มงวด
โดยเฉพาะส่วนของปัญหาขยะทะเล ที่มีรายงานว่า ปัจจุบันมีปริมาณขยะมูลฝอยในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด จำนวนถึง 11.47 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้มีการกำจัดที่ถูกต้อง 6.73 ล้านตัน/ปี หรือคิดเป็น 59% ในปริมาณนี้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ 2.93 ล้านตัน/ปี หรือ 25% ของขยะทั้งหมด แต่ยังมีขยะอีกเกือบ 40% ที่ยังกำจัดไม่ถูกต้องและสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเล
“นายกรัฐมนตรีห่วงใยในประเด็นการจัดการปัญหาขยะทะเล เพราะขยะเหล่านี้นอกจากสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมแนวชายฝั่งที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่สุขภาพของประชาชน ต่อภาคการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นปัญหาต่อระบบนิเวศทางทะเล จึงสั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องดูและเรื่องนี้อย่างเข้มงวด หากพบมีการขนขยะไปทิ้งทะเลให้มีการดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยังได้ให้นโยบายว่าจะต้องสร้างความสมดุลระหว่างการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศกับการดูแลทรัพยากรชายฝั่ง ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมานั้น พบว่า สภาพป่าชายหาดหลายพื้นที่ถูกทำลาย และปรับเปลี่ยนสภาพเพื่อรองรับกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวจนไม่เหลือสภาพธรรมชาติดั้งเดิม ทำให้ระบบนิเวศป่าชายหาดเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จำเป็นต้องเร่งอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมของระบบนิเวศป่าชายหาดในประเทศให้เร็วที่สุด
เช่นเดียวกับสถานการณ์ของป่าชายเลนที่ในปี 2557 เหลืออยู่ 1,534,584.74 ไร่ ลดลงจาก 2,299,375 ไร่ ในปี 2504 หรือ ลดลง 764,790.26 ไร่ จากการบุกรุกทำลาย แม้ต่อมาจะมีนโยบายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและยกเลิกสัมปทานการทำไม้ป่าชายเลนตั้งแต่ปี 2546 ก็พบว่าถึงขณะนี้ ป่าชายเลนใน 17 จังหวัด เพิ่มขึ้นประมาณ 500 ไร่เท่านั้น โดยแบ่งเป็น ป่าชายเลนฝั่งอ่าวไทยเพิ่มขึ้น 467 ไร่ และฝั่งอันดามันเพิ่มขึ้น 33 ไร่
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการทั้งเร่งฟื้นฟูทั้งส่วนของป่าชายหาดและป่าชายเลน ซึ่งส่วนของป่าชายเลนนั้น ให้มีการปลูกทดแทนเพิ่มขึ้น โดยให้ภาคเอกชนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น ให้จัดตั้งเครือข่ายภาคประชาชน การสนับสนุนกิจกรรมซีเอสอาร์ที่เหมาะสมกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร ในขณะที่การท่องเที่ยวป่าชายเลนต้องดูแลไม่ให้เกิดการรบกวนธรรมชาติมากจนเกินไป
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ปัญหาทรัพยากรทางทะเลเป็นประเด็นที่นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญ เพราะการพัฒนาประเทศหลายด้านมีการใช้ประโยชน์และส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล ต้องดูแลให้เกิดความสมดุล ซึ่งกรอบนโยบายที่รัฐบาลขับเคลื่อนได้ให้ความสำคัญกับการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) แผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล พ.ศ. 2558-2564 การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)