“ส.ว.สถิตย์” เชื่อ RCEP ช่วยขยายการค้าระหว่างประเทศเพิ่มเติมจากกลุ่มอาเซียน เป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก เพิ่มทางเลือกให้ประชาชนในการใช้บริการทางการเงินอย่างหลากหลาย และกลุ่ม RCEP จะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่สามารถเผชิญกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอื่นได้ดี
วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา วาระเรื่องความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะสมาชิกรัฐสภา อภิปรายว่า เมื่อ พ.ศ. 2535 สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน (ASEAN) ได้ทำความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA ทำให้การค้าขายระหว่างประเทศสมาชิกของอาเซียนขยายตัวไปมาก รวมทั้งการส่งออกของไทยไปยังสมาชิกอาเซียนที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 24 ของการส่งออกทั้งหมด
อาเซียนขยายความตกลงเขตการค้าเสรีเพิ่มขึ้น โดยทำความตกลงแบบ 2 ฝ่าย หรือทวิภาคี กับญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ทำให้การส่งออกของไทยไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 9 ประเทศ และ 5 ประเทศดังกล่าว รวมกันถึงร้อยละ 53 ของการส่งออกทั้งหมด
บัดนี้ ความตกลงระหว่างอาเซียน กับ 5 ประเทศดังกล่าวได้เปลี่ยนจากความตกลงแบบทวิภาคี เป็นความตกลงแบบหลายฝ่ายหรือพหุภาคี ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP)
ความตกลงอาร์เซ็ป (RCEP) จะก่อให้เกิดผลดังต่อไปนี้ ประการแรก ถิ่นกำเนิดสินค้า Rules of Origin (ROO) เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้ง 15 ประเทศ จากเดิมที่ถิ่นกำเนิดสินค้าระหว่าง อาเซียนกับอีก 5 ประเทศ แตกต่างกันไปตามความตกลงของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ ถิ่นกำเนิดตามความตกลงอาร์เซ็ปจะสามารถขยายการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าได้มากถึง 15 ประเทศ ทำให้การค้าระหว่างประเทศในเขตการค้าเสรีตามความตกลงอาร์เซ็ป ขยายตัวได้มากขึ้น
ประการที่ 2 เขตการค้าเสรีตามความตกลงอาร์เซ็ปจะเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนที่สำคัญของโลก เพราะมีฐานการผลิตและตลาดที่ครอบคลุมประชากรถึง 15 ประเทศ
ประการที่ 3 ความตกลงอาร์เซ็ปยังได้ผนวกการค้าบริการด้านการเงิน ทั้งธนาคาร หลักทรัพย์ และประกันภัย ซึ่งทำให้มีการแข่งขันในการบริการภาคการเงินมากขึ้น เป็นโอกาสของผู้บริโภคที่จะเลือกใช้บริการได้หลากหลาย ผู้ให้บริการภาคการเงินในประเทศยังมีโอกาสเพิ่มทักษะความรู้ และเทคโนโลยีซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ดีขึ้น สามารถที่จะเข้าไปแข่งขันในการให้บริการทางการเงินในประเทศต่างๆ ของอาร์เซ็ปได้
นอกจากนี้ ขนาดเศรษฐกิจรวมกันของกลุ่มประเทศในอาร์เซ็ปจะมีขนาดใหญ่โตมากที่สุดของโลกและจะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สามารถเผชิญกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี