เปิดกรอบงบฯ ปี 65 บูรณาการไฟใต้ 1.4 หมื่นล้าน น้อยกว่าสองปีหลังกว่า 4 พันล้าน เน้นขยายศาสตร์พระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” สอดรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ่วงผลกระทบโควิด-19 เป็นด้านความมั่นคง 6.7 พันล้าน ลง 26 หน่วยงาน ด้านการพัฒนา 7.5 พันล้าน ลง 45 หน่วยงาน เน้นแผนรักษาความปลอดภัย 5 หน่วยงาน 4.2 พันล้าน เฉพาะ “มหาดไทย” ขอ 3.7 พันล้าน ลงโครงการตำบล “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” 3.6 พันล้าน
วันนี้ (9 ก.พ.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ที่ประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2565 คณะที่ 1 (คณะย่อย 1.1) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบกรอบคำของบประมาณแผนงานการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ งบประมาณ พ.ศ. 2565
โดยเฉพาะหลักเกณฑ์สำคัญ ได้แก่ การขยายผลงานตามแนวทางศาสตร์พระราชา ยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ให้มุ่งเน้นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และโครงการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
สำหรับกรอบคำของบประมาณฯ ดังกล่าว เป็นกรอบให้แก่หน่วยงานรัฐ 58 แห่ง (17 กระทรวง 3 หน่วยงานที่ไม่สังกัดกระทรวง และ 1 องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ) รวมทั้งสิ้น 14,240.9711 ล้านบาท
สำหรับกรอบงบประมาณตามแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2564 รวมทั้งสิ้น 17,708 ล้านบาท จาก15 กระทรวง 4 หน่วยงานที่ไม่สังกัดกระทรวง 1 หน่วยงานอิสระ รวมทั้งสิ้น 55 หน่วยงานน้อยกว่ากรอบงบปี 2563 จำนวน 18,237.5 ล้านบาท
โดยพบว่า เป็นงบประมาณงานด้านความมั่นคง 6,700 ล้านบาท ใน 26 หน่วยงาน มี 6 โครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพข่าวกรอง 7 หน่วยงาน วงเงิน 897 ล้านบาท โครงการยับยั้งเงินที่สนับสนุนการกระทำผิดกฎหมาย 1 หน่วยงาน 8 ล้านบาท โครงการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน 5 หน่วยงาน 4,210 ล้านบาท
โครงการแก้ปัญหาและป้องกันภัยแทรกซ้อน 2 หน่วยงาน 160 ล้านบาท โครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อสันติสุข 20 หน่วยงาน 1,399 ล้านบาท และโครงการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งทางสันติวิธี 3 หน่วยงาน 22 ล้านบาท
งบประมาณงานด้านการพัฒนา 7,540 ล้านบาท ใน 45 หน่วยงาน มี 7 โครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคประชาสังคมและนานาชาติ 3 หน่วยงาน 69 ล้านบาท โครงการสร้างความเข้าใจประชาชนทั้งในและนอก จชต. 4 หน่วยงาน 227 ล้านบาท โครงการเสริมสร้างพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง 10 หน่วยงาน 417 ล้านบาท
โครงการอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 9 หน่วยงาน 497 ล้านบาท โครงการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพด้วยหลักธรรมาภิบาล 5 หน่วยงาน 288 ล้านบาท โครงการตำบล มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน 23 หน่วยงาน 3,653 ล้านบาท และโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมศักยภาพพื้นที่ 11 หน่วยงาน 2,386 ล้านบาท
ทั้งนี้ พบว่าเป็นกรอบคำของบประมาณแก้ปัญหาชายแดนใต้ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย วงเงิน 3,796.4617 ล้านบาท เป็นของกรมการปกครอง 1,752 ล้านบาท กรมที่ดิน 67 ล้านบาท กรมโยธาธิการและผังเมือง 1,894 ล้านบาท และกรมส่งเสริมการปกครองสว่นท้องถิ่น 82 ล้านบาท โดยพบว่ามีโครงการตำบล มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่ใช้งบประมาณสูงถึง 2,625.1088 ล้านบาท