xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ยกสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาเป็นบทเรียน พร้อมวิเคราะห์-เรียนรู้ต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกรัฐมนตรียกสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาเป็นบทเรียน พร้อมวิเคราะห์ เรียนรู้ต่อเนื่องเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในปัจจุบัน




วันนี้ (6 ก.พ.) เมื่อเวลา 08.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พูดคุยถึงการบริหารจัดการกับการระบาดใหม่ของโควิด-19 ในประเทศ ผ่าน PM PODCAST สรุปประเด็นดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการระบาดโควิด-19 ในประเทศครั้งนี้ไม่ได้เชื่อมโยงกับการระบาดในรอบแรกที่ไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ภายในสองเดือน การระบาดในรอบปัจจุบันส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จึงต้องนำสถานการณ์ที่ผ่านมาเป็นบทเรียน วิเคราะห์ ประมวลสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการเรียนรู้ เชื่อมั่น สามารถรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้มากขึ้น รวมทั้งใช้มาตรการต่างๆ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยตั้งอยู่บนหลักวิชาการและบริบทของประเทศไทย เช่น การปิดสถานประกอบการที่ต้องคำนึงถึงตัวเลขสถิติเพื่อออกมาตรการที่เหมาะสม ปัจจุบันรัฐบาลสามารถเลี่ยงการล็อกดาวน์ เปลี่ยนเป็นการแบ่งพื้นที่และกำหนดมาตรการควบคุมให้เหมาะสมกับความเสี่ยงของพื้นที่ในแต่ละระดับ ลดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน และลดผลกระทบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมได้มากที่สุด

นายกรัฐมนตรีเผยว่า ช่วงแรกของการระบาดครั้งนี้หนักหน่วงกว่าที่ผ่านมา เพราะเกิดการระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว บ่อนการพนัน ซึ่งระดมสรรพกำลังติดตามสอบสวนโรคทุกราย เพิ่มการตรวจเชิงรุกในพื้นที่โรงงาน ชุมชน โดยใช้มาตรการ Bubble and Seal ไม่ให้มีการระบาดออกนอกพื้นที่ ไม่ต้องปิดโรงงาน และเศรษฐกิจก็ยังสามารถดำเนินต่อไป เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงรัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการควบคุมให้สอดคล้องกับความเป็นจริง พร้อมทั้งกำชับหน่วยงานความมั่นคงให้เฝ้าระวังพื้นที่แนวชายแดน ป้องกันการลักลอบเข้าเมืองอย่างเข้มงวด

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการทำงานของหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงมหาดไทยได้สร้างกลไกเสริมเชื่อมโยงกับ ศบค. ระดับประเทศ ระดับตำบล บูรณาการร่วมกับกับหน่วยงานสาธารณสุขเพื่อสร้างโครงข่ายเฝ้าระวังทั่วประเทศ ขณะที่กระทรวงกลาโหมและตำรวจ จัดชุดตรวจดูแลสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดให้ดำเนินตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ ศบค.กำหนด โดยเฉพาะการเร่งติดตามกลุ่มบุคคลมั่วสุมทำผิดกฎหมาย ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด พร้อมทั้งดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด สำหรับการทำงานในส่วนของ ศบค. คือการตรวจเชิงรุกควบคู่กับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ติดตามสอบสวนผู้ที่มีความเสี่ยง

นายกรัฐมนตรียังย้ำในช่วงท้ายถึงความสำคัญของโรงพยาบาลสนามว่า เป็นทางออกหนึ่งที่สร้างความเชื่อมั่น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหมอ พยาบาล ในการดูแลทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ผู้ป่วยโควิด ให้ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม รวมทั้งจัดพื้นเหมาะสมให้กับผู้ติดเชื้อ ป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ชุมชน ซึ่งการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้แล้วเพื่อให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นอันดับแรกภายใต้การทำงานร่วมกันของกระทรวงสาธารณสุข


กำลังโหลดความคิดเห็น