xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” แจง “เราชนะ” ดูแลอาชีพอิสระ-บัตรคนจน 30 ล.คน รับใช้สมาร์ทโฟนอาจยากแต่ต้องเรียนรู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ประยุทธ์” เผยผ่านพอดแคสต์ แจงโครงการ “เราชนะ” ดูแลอาชีพอิสระ-บัตรคนจน รวม 30 ล้านคน รับใช้สมาร์ทโฟน อาจยุ่งยาก แต่ต้องเรียนรู้เทคโนโลยี สร้างสัมพันธ์ครอบครัว

วันนี้ (5 ก.พ.) เมื่อเวลา 16.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวในแอปพลิเคชันพอดแคสต์ ที่เผยแพร่ผ่านเพจไทยคู่ฟ้า ว่า สวัสดีพ่อแม่พี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ ตนยินดีและดีใจทุกครั้งที่ได้มีโอกาสมาเล่าเรื่องราวต่างๆ เพื่อให้ท่านได้รับรู้ รับฟังถึงบ้านแบบฟังสบายๆ ตนจะไม่เล่าว่าทำอะไรบ้าง แต่จะเล่าว่าท่านได้รับอะไรไปแล้วบ้างจากที่ตน และรัฐบาลทำ โดยเรื่องสำคัญที่เรากำลังรับมือขณะนี้ คือ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งตนและรัฐบาลได้ทำหลายเรื่องไปพร้อมๆ กัน ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพราะมันสำคัญเกี่ยวโยงกันทั้งหมด ทั้งการป้องกัน รักษา ดูแล เยียวยา ทั้งนี้ เรื่องของการเยียวยาจากสถานกาณ์โควิด-19 สัปดาห์นี้ ตนยังให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเยียวประชาชน ที่ได้รับผลกระทบที่มีจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการเราชนะที่จะดูแลผู้ประกอบอาชีพอิสระ หาบเร่ แผงลอย เกษตรกร แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รวมถึงผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 30 ล้านคน ซึ่งตนเข้าใจดีในความเดือดร้อนของท่าน และรู้สึกทุกข์ใจไม่น้อยไปกว่า เราจึงมาคิดว่าต้องทำกันยังไงถึงจะบรรเทาความเดือดร้อนใ้หกับท่าน อย่างน้อยก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สามารถจะดูแลตนเองในเรื่องที่จำเป็นได้ ทั้งเรื่องอุปโภค บริโภค

นายกฯ กล่าวว่า ตนติดตามรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอยู่ตลอดเวลา เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ปรับปรุงเงื่อนไขโครงการเราชนะ โดยขยายขอบเขตทั้งผู้ประกอบการ ร้านค้า และบริหารที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทั้งร้านธงฟ้า ร้านค้าในโครงการคนละครึ่ง ผู้ประกอบการของกองทุนหมู่บ้าน วิสาหกิจชุมชนที่มีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่ง หรือเป็นผู้ให้บริการประเภทรถที่สามารถตรวจสอบได้ แม้กระทั่งสามล้อถีบ เป็นต้น ขอให้ติดตามข่าวสาร จะได้ปฏิบัติได้ถูกต้อง รวมถึงผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะที่ไม่ได้เป็นนิติบุคคล คือ คนขับแท็กซี่ รถตู้โดยสาร รถสามล้อ รถสองแถว วินมอเตอร์ไซค์ และกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะมวลชน ได้แก่ รถไฟฟ้า รถไฟ รถเมล์ และเรือโดยสาร เราเปิดให้ลงทะเบียนเวบไซด์ http://www.xn--b3c4a2a6ch6f.com/ ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564

“อาจจะยุ่งยากอยู่บ้างที่ต้องลงทะเบียนผ่านโทรศัพท์มือถือ แต่เราต้องพัฒนาตัวเองไปด้วย เพื่อวันหน้าโลกของเราจะต้องเปลี่ยนแปลงไปแล้วในเรื่องของสังคมที่ไม่ใช้เงินสด เราจะบอกว่าเราไม่เรียนรู้ก็ไม่ได้ นี่คือ วัตถุประสงค์อีกประการหนึ่งเพื่อให้ทุกคนเข้าถึง และมีโอกาสเพิ่มความสัมพันธ์ในครอบครัว เช่น พ่อแม่ปู่ย่าตายายใช้ไม่เป็น ก็ให้ลูกหลานมาสอนให้ แนะนำให้ ความใกล้ชิดก็จะเกิด นี่คือผลประโยชน์โดยอ้อมคือสังคมที่อบอุ่น เรียนรู้ไปด้วยกัน และใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เป็น” นายกฯ กล่าว

นายกฯกล่าวต่อว่า กลุ่มที่ลงทะเบียนโครงการเราชนะ ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน จะรับลงทะเบียนตั้งวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา เจ้าหน้าที่จะช่วยดำเนินการให้ท่าน โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และรัฐบาลกำหนดเวลาลงทะเบียนโครงการเราชนะสำหรับกลุ่มประชาชนที่ไม่มีฐานข้อมูลเดิมและสามารถใช้สมาร์ทโฟนได้ ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม ถึง 12 กุมภาพันธ์

ย้ำต้องทำโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยรัดกุมมากสุด มาตรการเข้มข้นมากว่าปกติ พบ นร. ครู บุคลากร ติด มอบอำนาจโรงเรียนปิดได้ ส่วนค่าใช้จ่ายที่ทำไม่ได้ช่วงโควิดให้คืน ทั้ง ร.ร.รัฐ-เอกชน ขอให้นับเวลาเรียนที่บ้านด้วย

นายกฯยังได้ตอบคำถามของคน กทม.ที่ถามถึงความห่วงใยถึงการเปิดเรียนเด็กเล็กในช่วงโควิด-19 ว่า เข้าใจความรู้สึกพ่อแม่ ผู้ปกครองดี ซึ่งตนก็มีลูกเช่นกัน ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้รับข้อมูลจากพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่สะท้อนความเห็นว่าที่ผ่านมามีความยากลำบาก เพราะต้องดูแลลูก ไม่ได้ไปทำงาน ส่วนเด็กนักเรียนก็ไม่ได้เรียนอย่างเต็มที่ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง จึงให้มีการเปิดเรียนตามความเหมาะสมของพื้นที่ แต่ยังอยู่บนพื้นฐานความสำคัญ คือ ความปลอดภัยของนักเรียน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปดูมาตรการต่างๆ ที่จะทำให้เด็ก ครู ปลอดภัย จะต้องทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย การจะทำให้บรรลุผลทั้ง 2 อย่างนั้น กระทรวงศึกษาธิการ กทม.จะต้องมีมาตรการความปลอดภัยที่เข้มข้นมากกว่าปกติตั้งแต่การคัดกรอง จุดรับส่ง การปฏิบัติตัวของเด็กและครู การจัดสภาพแวดล้อม การจัดการเรียนการสอน ทุกอย่างต้องมีความรัดกุมมากที่สุด

นายกฯกล่าวว่า กทม.ก็ยังเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด 4 จังหวัด ที่มียังให้นักเรียนสลับกันมาเรียน กระทรวงศึกษาธิการ มีแนวทางให้ผู้ปกครองที่มีความกังวล เรื่องความไม่ปลอดภัยของลูกหลาน ต้องการให้เด็กอยู่บ้าน โดยเรียนแบบออนไลน์และให้การบ้านในใบงาน ซึ่งโรงเรียนสามารถอนุโลมเฉพาะรายได้ และขอฝากไปยังผู้อำนวยการโรงเรียนและโรงเรียนต่างๆด้วย ขอให้นับเวลาเรียนที่บ้านด้วย ทั้งนี้ หากมีกรณีฉุกเฉิน โรงเรียนเปิดแล้วปรากฏว่า มีนักเรียน หรือครู หรือบุคลากรทางการศึกษาติดเชื้อโควิด-19 ทางกระทรวงศึกษาธิการได้มอบอำนาจให้โรงเรียนเป็นผู้พิจารณาปิดโรงเรียนได้ตามระเบียบ และให้สาธารณสุขเข้าไปตรวจสอบเพื่อหาต้นตอ และวิธีการแก้ปัญหาให้เร็วสุด ก็ขอความร่วมมือกับทุกคน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และโรงเรียน ต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน ต้องฟัง 2 ทางเสมอ ในส่วนของค่าเทอม และค่าใช้จ่ายต่างๆ ค่าทัศนศึกษาและอื่นๆ ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงโควิด-19 กระทรวงศึกษาธิการมีแนวทางที่ชัดเจนไปยังทุกโรงเรียนแล้วว่า มีเงินส่วนใดที่ต้องคืนก็ต้องคืน ซึ่งโรงเรียนและผู้ปกครองต้องมีข้อตกลงกัน โดยแนวทางนี้ใช้ทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชน




กำลังโหลดความคิดเห็น