xs
xsm
sm
md
lg

“ภราดร” ทวงถามร่าง พ.ร.บ.กยศ.ระบุ ศธ.-อว.เห็นด้วยแล้ว จี้คลังปรับหลักการค่อยแก้วาระ 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.ส.ภท. ตั้งกระทู้ทวงถาม ร่าง พ.ร.บ.กยศ. เผย กระทรวงศึกษาฯ และกระทรวงอุดมศึกษาฯ เห็นด้วยหมดแล้ว บี้ กระทรวงการคลัง ให้รับหลักการ แล้วค่อยมาแก้ไขวาระที่ 2

วันนี้ (4 ก.พ.) นายภราดร ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ตั้งกระทู้ถามสดถามนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับปัญหาเรื่องกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ตอบกระทู้

นายภราดร ตั้งคำถามว่า เนื่องจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นปัญหามาอย่างยาวนาน ทำให้ผู้กู้ยืม และผู้ค้ำประกันได้รับความเดือดร้อน นอกจากนี้ ทำให้รัฐบาลต้องเสียงบประมาณในการติดตามทวงหนี้ปีละประมาณกว่า 1 พันล้านบาท จากปัญหาดังกล่าว จึงมีความต้องการถามถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่า

1. ทราบถึงปัญหาดังกล่าวหรือไม่ และมีแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาอย่างไร

ทั้งนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า กยศ. เปิดโอกาสให้ผู้กู้ยืมที่เรียนจบออกมาใช้เงินกู้ในระยะเวลา 15 ปี หากไม่มีการชำระหนี้ให้กองทุนนั้น ก็ต้องดำเนินคดีตามอายุความ และให้โอกาสทำสัญญาประนีประนอมความผ่อนชำระต่ออีก 9-15 ปี หากไม่มีการชำระ ก็จะมีการดำเนินคดี เพื่อไม่ให้หมดอายุความตามกำหนด โดยกองทุนจะงดการขายทอดตลาด และขยายให้ผ่อนชำระอีก 6 ปี และท้ายสุดหากไม่ชำระหนี้ได้ กองทุนก็จะขยายเวลาจนกว่าจะชำระหนี้ได้เสร็จสิ้น

นายภราดร ตั้งคำถามอีกว่า แนวทางปฏิบัติเดิมๆ ของ กยศ. ทำให้เกิดปัญหาทางปฏิบัติให้รัฐต้องใช้เงินปีละเป็นพันล้านบาท เพื่อดำเนินคดีกับ ลูกหนี้ กยศ. มันใช่เรื่องหรือไม่ การแก้ปัญหาแบบต่อครั้ง ไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ ปัญหาคือ พ.ร.บ. กยศ. เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 ส.ส.พรรคภูมิใจไทย เสนอแก้ไขกฎหมาย 5 ประเด็น คือ 1. ดอกเบี้ยต้องเป็น 0% 2. ปลอดภาระผู้ค้ำประกัน ให้ผู้กู้ค้ำประกันตนเองได้ 3. แปลงหนี้สินเป็นทุนการศึกษา ในกรณีที่ผู้กู้มีการเรียนเกียรตินิยมอันดับ 1 เท่ากับเรียนฟรี 4. ทำงานให้รัฐ แลกกับเงินที่กู้มา เป็นระยะเวลาเท่าไหร่ก็ตกลงกัน และ 5. หากจบการศึกษาในคณะที่เป็นศาสตร์พิเศษ ให้เรียนฟรีได้ ไม่ต้องชำระเงินกู้ให้ กยศ. จึงอยากทราบว่ากระทรวงการคลังมีหลักคิดอย่างไร

โดย นายอาคม ชี้แจงว่า ร่างกฎหมายที่พรรคภูมิใจไทย นำเสนอไปที่นายกรัฐมนตรี และยังไม่ได้พิจารณา เนื่องจากมีหลายประเด็น ซึ่งการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ค้างชำระ ดอกเบี้ย หรือประโยชน์อื่น กองทุน กยศ.สามารถดำเนินการได้โดยแก้ไขระเบียบของกองทุนให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติ

“ขณะที่นายกรัฐมนตรี ยังไม่ลงนามให้การรับรอง เนื่องจากมีเหตุผลว่า 1. การแปลงหนี้เป็นเงินทุนเพื่อการศึกษา อาจจะส่งผลกระทบต่อการเงินของกองทุน กยศ. อาจจะต้องกลับไปพึ่งพางบประมาณแผ่นดิน 2. การมุ่งเน้นการแปลงหนี้เฉพาะผู้กู้ยืมเงินที่ศึกษาในระดับอุดมศึกษาอาจจะส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับผู้กู้ยืมเงินที่ศึกษาในระดับอื่นด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ คือ การสร้างวินัยให้กับเด็กและเยาวชน 3. ส่วนที่ให้ทำงานกับรัฐ ควรจะคำนึงถึงรายได้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตหรือไม่ ไม่ใช่ทำงานเพื่อชดใช้หนี้เพียงอย่างเดียว และ พ.ร.บ. กยศ. ปี 2560 ได้ให้อำนาจคณะกรรมการกองทุน ดำเนินการตามความยืดหยุ่นและเหมาะสม จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. กยศ.” นายอาคม กล่าว

นายภราดร ถามอีกว่า หากยกหนี้ให้ทำให้เกิดปัญหากับกองทุน เพราะเป็นทุนหมุนเวียน ซึ่งทางเราไม่ได้สนับสนุนให้เบี้ยวหนี้ แต่เราบอกว่าอัตราดอกเบี้ยที่คิด 1% มากเกินไป ไม่จำเป็นต้องคิดดอกเบี้ย เป็นบริการสาธารณะ และเรื่องการแปลงหนี้ เราต้องการแก้ไขให้เสมอภาค การที่บอกว่ากลัวสถานะทางการเงินของกองทุน แต่เรื่องที่ใช้เงิน 1 พันล้านบาทต่อปี ไปฟ้องร้องคนกู้เงิน แบบนี้ไม่ใช่การใช้เงินฟุ่มเฟือยของกองทุน เมื่อเทียบกับการให้ทุนสำหรับผู้เรียนดี หรือนี่เป็นการสะท้อนแนวคิดกระทรวงการคลัง

“ขณะนี้มีหนังสือตอบกลับมาจาก สภาผู้แทนราษฎร ถึงพรรคภูมิใจไทย มี 4-5 หน่วยงานแล้ว เป็นเรื่องน่ายินดีว่า ได้ถามนอกรอบกับกระทรวงงศึกษาธิการ ตอบกลับมาว่าไม่ขัดกับตัวร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพียงแต่มีเงื่อนไขบางประเด็นเท่านั้น ไม่มีปัญหาเลย รับในหลักการก่อน แล้วเข้าสู่ชั้นกรรมาธิการ ค่อยมาแก้ไขกัน กระทรวงอุดมศึกษาฯ ก็ไม่ขัดข้องเช่นเดียวกัน ทางกฤษฎีกา ก็บอกว่า แล้วแต่หน่วยงานอื่นจะเห็นอย่างไร วันนี้ต้องถาม กระทรวงการคลัง เพราะเหลือท่านเพียงกระทรวงเดียวแล้ว ว่าท่านเห็นความสำคัญของเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน ขอความกรุณาให้ความเห็นชอบ แล้วประเด็นที่ไม่ตรงกัน ให้มาแก้ไขที่นี่ ท่านเห็นใจประชาชนด้วย โควิดก็เข้ามาเล่นงานพวกเขา ขณะนี้ว่างงานไม่รู้กี่ล้านตำแหน่ง”

นายอาคม ชี้แจงสั้นๆ เพียงว่า ร่าง พ.ร.บ. กยศ. ของพรรคภูมิใจไทย นั้น มีความเห็นของแต่ละหน่วยงานมีข้อสังเกตที่จะต้องทำความเข้าใจ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทางสมาชิกส่งร่างนี้มาที่กระทรวงการคลัง เพิ่งได้รับเมื่อไม่กี่วันนี้เอง กระทรวงการคลังต้องมีการหารืออีกครั้ง ระหว่างหน่วยงาน กระทรวงการคลัง ขอรับไปเพื่อดูความเห็นของหน่วยงานต่างๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น