ศาลปกครองไต่สวนคดีบีทีเอสขึ้นค่าโดยสารสายสีเขียว 104 บาทตลอดสาย “สิริพงศ์” นำทีม ส.ส.ภท. เข้าให้ข้อมูล ชี้สร้างภาระให้ประชาชน-ดำเนินการไม่ชอบ ย้ำควรกลับไปยึดสัญญาเดิม 65 บาท
วันนี้ (4 ก.พ.) ศาลปกครองออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนคดีที่นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย พร้อม ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานครขอให้สั่งยกเลิกประกาศกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2560 เรื่องค่าโดยสารโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตอนที่ 1 (ซอยสุขุมวิท 95 ซอยสุขุวิท 107) ระยะทาง 5.25 กิโลเมตร และส่วนต่อขยายสายสีลม ตอนที่ 2 (ตากสิน-เพชรเกษม) ระยะทาง 6.3 กิโลเมตร ทำให้การจัดเก็บอัตราค่าโดยสารตลอดเส้นทางไม่เกิน 104 บาท ซึ่งต่อมามีประกาศกรุงเทพมหานครเรื่องการกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมาให้เรียกเก็บในอัตราเดียวกัน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.นี้ โดยนายสิริพงศ์เดินทางพร้อม ส.ส.ภูมิใจไทย ได้แก่ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายมณฑล โพธิ์คาย ส.ส.กทม. นายโชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี ส.ส.กทม. นายพิษณุ พลธี ส.ส.ปทุมธานี และนายอนาวิล รัตนสถาพร ส.ส.ปทุมธานี
นายสิริพงศ์กล่าวก่อนการเข้าไต่สวนว่า เป็นการมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อศาล โดยจะชี้ให้ศาลเห็นว่าก่อนหน้านี้ปี 2562 กทม.ได้มีการเจรจาทำสัญญากับบีทีเอส โดยสัญญากำหนดราคาไว้ที่ 65 บาทตลอดสาย เมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าสายอื่น เช่น สายสีน้ำเงิน ตอนนี้มีค่าบริการที่ 42 บาทตลอดสาย มีประชาชนขึ้นวันละ 300,000 คน บีทีเอสก็สามารถดำเนินการได้ ดังนั้น ถ้าบีทีเอสยึดอัตราค่าโดยสารตามร่างสัญญาเดิม และมีผู้ใช้บริการสายสีเขียวที่คาดว่าจะอยู่ที่วันละ 800,000-1,000,000 คน ก็เชื่อว่าสามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ การจะตั้งราคา 104 บาทตลอดสายต้องคิดว่าคนคนหนึ่งเดินทางไปทำงานทั้งไปและกลับ ต้องมีการขึ้นลงหลายสถานี เท่ากับว่าภาระของเขาวันหนึ่งต้องมี 100-200 บาท ดังนั้นจะเป็นภาระมากสำหรับคนที่คนที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อย และเราคาดการณ์ว่าในปี 2572 สัญญาสัมปทานของบีทีเอสในส่วนตรงกลางจะหมดลง เมื่อไม่มีภาระสัมปทานอัตราค่าโดยสารย่อมถูกลงได้อีก ดังนั้น การที่จะมาเก็บค่าโดยสาร 104 ตลอดสาย และตลอดอายุสัญญาสัมปทาน หากมีอะไรผิดพลาดขึ้นมามันไม่สามารถเยียวยาประชาชนได้ทันแล้ว
นอกจากนี้จะชี้ให้ศาลเห็นว่ายังมีการดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น ร่างสัญญาที่ กทม.ทำกับบีทีเอส ยังไม่เคยผ่านการพิจารณาของ ครม.เลย ในอดีตมีแต่ผ่านสำนักเลขาธิการ ครม. ดังนั้น ครม.จึงยังไม่เคยเห็นเลยว่าร่างสัญญานี้กำหนดให้เก็บค่าโดยสารเท่าใด และตามมติ ครม.มีการกำหนดชัดเจนว่าการจะปรับขึ้นค่าโดยสาร กทม.จะต้องหารือกับทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง ให้ครบถ้วนเพื่อให้การเก็บค่าโดยสารไม่เป็นภาระแก่ประชาชน แต่ กทม.ก็ไม่ได้ดำเนินการตามมติ ครม.เลย ซึ่งการฟ้องครั้งนี้ทำในฐานะประชาชน และ ส.ส.ที่ทำหน้าที่แทนปวงชน หากเราไม่ฟ้องถือว่าเราทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์