หน.พลังธรรมใหม่ ย้ำลำดับฉีดวัคซีนต้องคิดถึงการฟื้นเศรษฐกิจด้วย แนะเร่งฉีดบุคลากรท่องเที่ยว ต่อจากบุคลากรทางการแพทย์ และผู้มีโรคประจำตัวเสี่ยง
วันนี้ (29 ม.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังธรรมใหม่ แถลงข่าวระบุถึง กรณีที่คณะอนุกรรมการอำนวยการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 มีมติจัดลำดับกลุ่มประชาชนที่จะฉีดวัคซีน 19 ล้านคนแรก โดยจะฉีดให้ 1. บุคลากรสาธารณสุข ทั้งภาครัฐ-เอกชน 1.7 ล้านคน 2. บุคคลที่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยง 6 ล้านเศษ เช่น โรคทางเดินหายใจ, หัวใจ-หลอดเลือด, มะเร็ง, เบาหวาน ฯลฯ 3. ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี 11 ล้านคนเศษ และ 4. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโควิด 15,000 คน ซึ่งการจัดลำดับแบบนี้เป็นการพิจารณาจากมุมมองทางการแพทย์เป็นหลัก
“ถ้าพิจารณาทั้งจากมุมมองทางการแพทย์ บวกกับมุมมองในการฟื้นเศรษฐกิจประเทศด้วย ผมขอเสนอว่าลำดับที่ 1 และ 2 เดิมที่กำหนดไว้เหมาะสมแล้ว แต่ลำดับที่ 3 ควรจะเป็นการฉัดวัคซีนให้คนไทยที่มีอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั้งระบบ เช่น เจ้าหน้าที่ สายการบิน สนามบิน ท่าเรือ คนขับรถแท็กซี่ รถสามล้อ โรงแรม รีสอร์ต ฯลฯ จากนั้นค่อยฉีดผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่ 4” นพ.ระวีกล่าว
นพ.ระวีกล่าวต่อว่า ที่ตนเสนอเช่นนี้เพราะทุกวันนี้ทั่วโลกฝากความหวังอยู่ที่การฉีดวัคซีนเพื่อยับยั้งการระบาด และฟื้นเศรษฐกิจโลก ซึ่งประเทศไทยมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว จึงควรเร่งฉีดวัคซีนในคนไทยในระบบการท่องเที่ยวเป็นลำดับที่ 3 คาดว่าอาจจะได้ฉีดในปลายไตรมาสที่ 2-3 ปี 2564 หลังฉีดวัคซีนคนไทยกลุ่มนี้เสร็จ รัฐบาลสามารถเปิดประเทศได้อย่างเต็มที่ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยก็จะเริ่มฟื้นได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนให้คนไทยกลุ่มนี้ได้ฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มที่ 3 ก่อน จะทำให้คนไทยกลุ่มนี้จะได้รับการฉีดวัคซีนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ซึ่งจะส่งผลให้กว่าเราจะเปิดประเทศได้เต็มที่คือต้นปี 65 ถึงตอนนั้นการท่องเที่ยวไทยก็จะน่าจอดสนิทเสียก่อน
นพ.ระวียังกล่าวต่อว่า ตนขอฝากไปยังรัฐบาลให้เร่งดำเนินการนำวัคซีนเข้ามาฉีดให้แก่คนไทยอย่างเร่งด่วน เพราะถึงแม้อาจจะได้วัคซีนราคาสูงขึ้นอีกนิด และอาจจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 5,000-10,000 ล้านบาท แต่ก็คุ้มกว่าการฟื้นเศรษฐกิจที่ล่าช้าไปอีก 6 เดือน เพราะจะมีความเสียหายกว่าแสนล้านบาท