xs
xsm
sm
md
lg

“รองประธานสภาฯ” ยันบรรจุญัตติซักฟอกฝ่ายค้าน แม้ไม่แก้ไข ห่วงอภิปรายไม่ราบรื่น-บานปลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศุภชัย” ยันบรรจุญัตติซักฟอกฝ่ายค้าน แม้ไม่แก้ไขแต่หากก้าวล่วงสถาบันฯ ต้องรับผิดชอบ เผย “ชวน” กังวลกลัวสภาตกเป็นจำเลยของสังคม หวั่นโต้กันแรงกลายเป็นสาดน้ำมันเข้ากองไฟ

วันนี้ (29 ม.ค.) นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 กล่างถึงกรณีที่ฝ่ายค้านยืนยันไม่แก้ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า จากการพูดคุยทั้ง 2 ฝ่ายเมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ให้ข้อคิดกับฝ่ายค้าน ทั้งนี้ ยืนยันว่าญัตติของฝ่ายค้านที่ยื่นมานั้นถูกต้องตามกระบวนการ สามารถบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระได้ แต่สิ่งที่ประธานสภาผู้แทนฯ และตนวิตกกังวลในเรื่องของการใช้คำพูดของข้อกล่าวหาที่ไปพัวพันถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงได้วิเคราะห์ว่าการตั้งข้อกล่าวหาในหลายๆ ประเด็นที่ไปพัวพันกับสถาบันฯ เวลาสมาชิกสภาอภิปรายจะผิดข้อบังคับหรือไม่ เพราะในข้อบังคับห้ามเอ่ยถึงบุคคลที่ 3 และพระมหากษัตริย์โดยไม่จำเป็น แต่เมื่อญัตติเขียนระบุเชื่อมโยงไปถึงพระมหากษัตริย์ ถึงแม้จะไม่กล่าวหาสถาบันฯ ก็ตาม แต่สมาชิกสภาจะหลีกเลี่ยงการพูดถึงสถาบันฯ ไม่ได้

“จึงเป็นเรื่องที่ลำบากใจ เมื่อฝ่ายค้านยื่นญัตติเข้ามาแล้วต่างคนก็ต่างมุมมอง ตั้งท่ากันตั้งแต่ยังไม่อภิปราย ถ้าสมมติว่าฝ่ายค้านอภิปรายผิดข้อบังคับ แล้วรัฐบาลก็ประท้วง ฝ่ายค้านก็จะอ้างว่ามีอยู่ในญัตติ ซึ่งตอนเขียนไม่ผิด แต่ตอนพูดผิด แล้วจะทำอย่างไร เรื่องนี้ประธานสภาเป็นกังวลว่าการอภิปรายจะไม่เป็นไปด้วยความราบรื่น เพราะแทนที่จะอภิปรายเสร็จภายใน 4 วัน และลงมติวันที่ 5 ก็อาจจะยืดเยื้อออกไปอีก ที่สำคัญประธานสภากังวลว่าไม่อยากให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นการเปิดประเด็นหลายๆ ประเด็น ถ้าฝ่ายค้านอภิปรายตั้งข้อกล่าวหารัฐบาลที่ค่อนข้างแรง และนายกรัฐมนตรีชี้แจง หากเปิดประเด็นแรงๆ ออกมาก็จะเป็นการสาดน้ำมันเข้ากองไฟ ไฟก็ลุกโชติช่วง หรือสาดน้ำเข้าหากัน ต่างฝ่ายก็ต้องเปียก ทำให้ไม่เป็นผลดีต่อการทำงานร่วมกัน ซึ่งประธานสภาเป็นห่วง และไม่อยากให้ใครตกเป็นจำเลยของสังคมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้” นายศุภชัยกล่าว

นายศุภชัยกล่าวต่อว่า สำหรับตนในฐานะที่เป็นผู้กลั่นกรองญัตติก็เป็นกังวล แต่เมื่อฝ่ายค้านยืนยันเราก็ต้องบรรจุญัตติเข้าสู่ระเบียบวาระ ส่วนจะอภิปรายวันไหนทางสำนักเลขาธิการสภาจะประสานไปยังรัฐบาลว่าจะพร้อมชี้แจงวันไหน และหากมีปัญหาในระหว่างการอภิปราย สมาชิกสภาแต่ละคนก็ต้องรับผิดชอบตนเอง ประธานในที่ประชุม ก็อาจจะต้องทำหน้าที่หนักหน่อย อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้วิตกในการทำหน้าที่ เพราะเรายึดข้อบังคับการประชุมเป็นที่ตั้ง แต่อาจจะไม่ถูกใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องแก้สถานการณ์เฉพาะหน้ากันต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น