มติสภารับหลักการร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ไว้พิจารณา เพิ่มการคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้เจ้าของภาพถ่ายตลอดอายุและบวกเพิ่มอีก 50 ปี สอดคล้องตามสนธิสัญญาสากล ขณะผู้บริการสามารถนำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบได้โดยไม่ต้องรอคำสั่งศาล
วันนี้ (27ม.ค.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาวาระเรื่องด่วน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ลิขสิทธิ์ ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยมีนายจุรินทร์ ลักษวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงถึงความจำเป็นในการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวให้สภาพิจารณาว่าร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ เป็นการปรับอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้แก่เจ้าของภาพถ่ายซึ่งกฎหมายเดิมกำหนดไว้เพียง 50 ปี แก้ไขเป็นการให้ความคุ้มครองตลอดอายุเจ้าของลิขสิทธิ์และบวกเพิ่มอีก 50 ปี สอดคล้องตามสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty) ประกอบกับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบให้ไทยเข้าเป็นภาคีดังกล่าวเมื่อ ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ร่างกฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตสามารถนำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบได้โดยไม่ต้องรอคำสั่งศาลเหมือนที่ผ่านมา รวมถึงเป็นการแก้ไขให้สามารถเอาผิดต่อผู้จำหน่ายกล่องรับสัญญาณที่กระทำการผิดกฎหมายทำการเผยแพร่ภาพ หรือภาพและเสียงลิขสิทธิ์ อาทิ ภาพยนตร์ กีฬา อีกทั้งช่วยให้ผู้ทรงคุณวุฒิตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งหมดวาระสามารถทำหน้าที่ต่อได้จนกว่าจะมีผู้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทน
ทั้งนี้ เมื่อ ส.ส.รับฟังการชี้แจงความสำคัญรวมถึงหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมายดังกล่าวแล้วต่างอภิปรายแสดงความเห็นเพิ่มเติมในหลายประเด็น อาทิ นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานีพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการให้เป็นกฎหมายช่วยคุ้มครองเจ้าของผลงาน ไม่ใช่การเอื้อให้นายทุนใหญ่ พร้อมเห็นว่าควรสนับสนุนให้ผู้ซื้อลิขสิทธิ์แบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่เจ้าของผลงานด้วย ขณะที่นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตถึงช่องว่างของร่างกฎหมายและการขาดความชัดเจนในหลายประเด็น อาทิ การกำหนดผู้ให้บริการสามารถนำข้อมูลออกจากเครือข่ายหรือระงับการเข้าถึงข้อมูลหากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์บนระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งการกำหนดว่าหลักฐานอันควรเชื่อนี้ร่างกฎหมายยังไม่มีการระบุชัดว่าเป็นประเด็นใด จึงย่อมจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม หลัง ส.ส.อภิปรายแสดงความเห็นแล้ว มีมติให้ความเห็นชอบรับหลักการของร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ไว้พิจารณาต่อ ด้วยเสียงเอกฉันท์ 318 โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย มีผู้งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 2 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 321 คน พร้อมเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาหนึ่งคณะทำหน้าที่พิจารณาด้วยจำนวนกรรมาธิการ 25 คน และเปิดให้เสนอแปรญัตติได้ภายใน 7 วัน