ก.เกษตรฯ ปรับรูปแบบโครงการเงินกู้ “1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่” เริ่มเบิกจ่าย มี.ค. 64 หลังถูกตัดลดงบ จาก 9.8 พันล้าน เหลือ 3.5 พันล้าน ตัดงบ “กรมชลประทาน” ออก เปลี่ยนแปลงขนาดพื้นที่ขุดสระเก็บกักน้ำ จาก 1 ขนาด (3 ไร่) เป็น 4 ขนาด เรียงลำดับ 2.5-3-4-5 ไร่ ลดกลุ่มเป้าหมาย จาก 6.4 หมื่นราย เหลือ 3.2 หมื่นราย ปรับออก “ผลผลิตพื้นที่ปลูกป่า” เหตุไม่มีงบฯ รองรับ เผย 795 ตำบลไม่มีผู้สมัครร่วมโครงการ 445 ตำบล มีผู้สมัครรายเดียว
วันนี้ (22 ม.ค.) มีรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมดำเนินการเปลี่ยนแปลงรายละเอียด “โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่” ตามแผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 3 แผนงาน 3.2 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนด งบประมาณเงินกู้เพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับกระทบจากโควิด-19 ภายหลังได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 19 ม.ค.
โดยจะดำเนินการปรับลดกรอบวงเงินของโครงการจากเดิม ตามมติ ครม. (8 ก.ค.2563) วงเงิน 9,805.7075 ล้านบาท เป็น 3,550.9175 ล้านบาท หลังจากโครงการเริ่มดำเนินการเมื่อเดือนกันยายน 2563 นอกจากนี้ยังให้ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการ จากเดิมสิ้นสุดเดือนกันยายน 2564 เป็นธันวาคม 2564 พร้อมทั้งเห็นควรให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำกับดูแลหน่วยงานรับผิดชอบ ดำเนินการตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯ อย่างเคร่งครัด โดยจะเริ่มเบิกจ่ายได้ตั้งแต่ มี.ค. 2564
สำหรับการปรับปรุงรายละเอียดโครงการดังกล่าวฯ ตามข้อเสนอเดิมและเสนอปรับปรุงรายละเอียดใหม่ ประกอบด้วย
1. เปลี่ยนแปลงขนาดพื้นที่ขุดสระเก็บกักน้ำ “ตามข้อเสนอเดิม” 1 ขนาด (3 ไร่) ปริมาณดินขุด 4,000 ลบ.ม. โดยมีการปรับเหมืองไส้ไก่ ปั้นโคกหนองนา คันนาทองคำ และตกแต่งพื้นที่ตามที่ออกแบบไว้ เสนอปรับปรุงใหม่ โดยใช้รูปแบบมาตรฐาน “กรมพัฒนาที่ดิน” และมีรูปแบบเรขาคณิตอื่นที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของเกษตรกรซึ่งสามารถตรวจรับปริมาณดินขุดได้
ทั้งนี้ ได้กำหนดขนาดพื้นที่เข้าร่วมโครงการ 4 ขนาด ดังนี้ 1. ขนาดพื้นที่ 2.5 ไร่ พื้นที่เก็บกักน้ำปริมาณดินขุดไม่เกิน 1,800 ลบ.ม. 2. ขนาดพื้นที่ 3 ไร่ พื้นที่เก็บกักน้ำปริมาณดินขุดไม่เกิน 2,100 ลบ.ม. 3. ขนาดพื้นที่ 4 ไร่ แหล่งเก็บกักน้ำปริมาณดินขุดไม่เกิน 2,800 ลบ.ม. 4. ขนาดพื้นที่ 5 ไร่ พื้นที่เก็บกักน้ำปริมาณดินขุด ไม่เกิน 3,500 ลบ.ม.
โดยเป็นการขุดสระและปรับเกลี่ยดินเพื่อรองรับการเก็บกักน้ำ ไม่รวมถึงการขุดเหมืองไส้ไก่ ปั้นโคกหนองนา ตันนาทองคำ และตกแต่งพื้นที่ตามที่ออกแบบไว้เนื่องจากไม่ได้ตั้งงบประมาณรองรับ
“การดำเนินงานตามรูปแบบใหม่นี้จะยังคงทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้สำหรับการทำกิจกรรมเกษตร ทั้งในสว่นกิจกรรมหลักและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ได้ตลอดทั้งปี”
2. เปลี่ยนแปลงกลุ่มเป้าหมาย “เดิม” เกษตรกร 64,144 ราย เป้าหมายการจ้างงานระดับตำบล 32,072 ราย เสนอปรับปรุงใหม่ เป้าหมายเกษตรกร 32,000 ราย เป้าหมายการจ้างงานระดับตำบล 16,000 ราย 3. เปลี่ยนแปลงวงเงิน “เดิม” 9,805.7075 ล้านบาท เสนอปรับปรุงใหม่ ปรับวงเงินงบประมาณเป็น 3,550.9175 ล้านบาท
4. เปลี่ยนแปลงเป้าหมาย “เดิม” เกษตรกร 4,009 ตำบลๆ ละ 16 ราย เสนอปรับปรุงใหม่ ปรับตามข้อมูลผลการรับสมัครจริงรายตำบล ทั้งนี้ต้องมีผู้สมัครตั้งแต่ 2 รายต่อตำบลขึ้นไป แต่ไม่เกิน 50 รายต่อตำบล และการจ้างงานระดับตำบล ปรับจากไม่เกิน 8 รายตำบล เป็นตั้งแต่ 1 รายต่อตำบลขึ้นไปแต่ไม่เกิน 25 รายต่อตำบล จึงจะดำเนินการได้ เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการและการจ้างงานระดับตำบล รวมถึงสอดคล้องกับผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของกระทรวงเกษตรฯ
ทั้งนี้ พบว่าจำนวนตำบลที่ไม่มีผู้สมัคร 795 ตำบล และจำนวนตำบลที่มีผู้สมัคร เพียงรายเดียว 445 ตำบล
5. ผลผลิตของโครงการ “เดิม” คาดว่าได้พื้นที่ปลูกป่าเพิ่มขึ้น 19,243 ไร่ เสนอปรับปรุงใหม่ ปรับผลผลิตพื้นที่ปลูกป่าออก เนื่องจากไม่มีการตั้งงบประมารองรับไว้ ,6. เปลี่ยนแปลงจำนวนหน่วยงานรับผิดชอบ “เดิม” 7 หน่วยงาน ปรับลด “กรมชลประทาน” เหลือเพียง 6 หน่วยงาน
7. เปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ “เดิม” เพื่อฟื้นฟูภาคการเกษตร ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมุ่งเน้นเกษตรกรที่มีความตั้งใจเอาใจใส่อย่างจริงจัง เสนอปรับปรุงใหม่ เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ ภายหลังจากแพร่ระบาด แก่เกษตรกรผู้ว่างงานที่มีความตั้งใจเอาใจใส่อย่างจริงจัง
ทั้งนี้ ได้ปรับลดงบประมาณเหลือเพียง 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปรับเหลือ 1,494,031,991 บาท กรมส่งเสริมการเกษตร ปรับเหลือ 47,040,000 บาท กรมพัฒนาที่ดิน ปรับเหลือ 2,042,020,589 บาท กรมปศุสัตว์ ปรับเหลือ 47,040,000 บาท กรมประมง ปรับเหลือ 47,040,000 บาท และสำนักเศรษฐกิจการเกษตร ปรับเหลือ 1,000,000 บาท
ทั้งนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯ มีความเห็นเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการจะทำให้โครงการมีพื้นที่ “เกษตรทฤษฎีใหม่” เพิ่มขึ้น 125,615ไร่ พื้นที่กักเก็บน้ำเพิ่มขึ้นรวม 78.9987 ล้าน ลบ.ม. ช่วยลดรายจ่ายให้เกษตรกร 2,137.5176 ล้านบาท และเพิ่มรายได้ในพื้นที่รวม 1,310.4810 บาท