มท.สั่ง 14 จังหวัด ตามงานโรงไฟฟ้าขยะชุมชนแห่งใหม่ สนอง “บิ๊กป๊อก” ประกอบนโยบายรับซื้อไฟฟ้าของ ก.พลังงาน ตามโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed - in - Tariff (FIT) เผย 14 จังหวัด กาฬสินธุ์ ชัยนาท ชุมพร เชียงใหม่ โคราช นครศรีธรรมราช สารคาม ยะลา ราชบุรี สงขลา สมุทรปราการ สระแก้ว สุโขทัย อุดรธานี พบ บางแห่งยังติดอุปสรรคประชาชนคัดค้าน
วันนี้ (19 ม.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า วานนี้ (18 ม.ค.) กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) มีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 14 จังหวัด เพื่อให้รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบโครงการให้เป็นปัจจุบัน
ทั้งนี้ เป็นไปตามหนังสือที่แจ้ง อปท. เจ้าของโครงการฯ ให้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการจัดการมูลฝอย พ.ศ. 2560 ข้อ 18 เพื่อประกอบการกำหนดนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากกระทรวงพลังงาน ที่จะพิจารณากำหนดนโยบายการจัดหาไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed - in - Tariff (FIT)
ให้จังหวัดรายงานผลการดำเนินโครงการ ทั้งในส่วนของกำลังการผลิตไฟฟ้า (MW) ปริมาณเสนอขายไฟฟ้า (MW) ระบบเทคโนโลยี มูลค่าลงทุนโครงการ (ล้านบาท) ผลการดำเนินการโครงการ (ระบุรายละเอียด) ร่าง TOR ประกาศคัดเลือกเอกชน ผลการคัดเลือกเอกชน (ระบุชื่อบริษัท)
รวมถึงขั้นตอนสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ตรวจร่างสัญญา และขั้นตอนที่บริษัทเอกชนลงนามในสัญญากับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ระบุวันที่ลงนาม) คาดว่าจะลงนามในสัญญา (กรณียังไม่มีการลงนามในสัญญา) สุดท้าย ให้รายงานกรณีปัญหาอุปสรรคที่สำคัญในการดำเนินโครงการ
“โดย 14 จังหวัด ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าขยะ อ.กมาลไสย จ.กาฬสินธุ์, โครงการโรงไฟฟ้าขยะ อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท, โครงการโรงไฟฟ้าขยะ อ.ปะทิว จ.ชุมพร รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าขยะใน จ.เชียงใหม่ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช มหาสารคาม ยะลา ราชบุรี สงขลา สมุทรปราการ สระแก้ว สุโขทัย และอุดรธานี”
ทั้งนี้ พบว่าโรงไฟฟ้าชุมชุมส่วนใหญ่ติดประเด็นการคัดค้านจากภาคประชาชน เช่น โครงการโรงไฟฟ้าขยะ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ เป็นต้น
ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้รับการสนับสนุนโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของ อปท.จากกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการเพิ่มเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนเพิ่มเติมตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (Power Development Plan : PDP 2015) และจะดำเนินการตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้ากับพื้นที่กำจัดขยะของกลุ่มพื้นที่ (Clusters) ทั้ง 324 กลุ่ม ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงกันเพื่อกำหนดในแผน PDP ต่อไป
ก่อนหน้านั้นกระทรวงมหาดไทย เห็นชอบตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กพพ.) อนุมัติจัดตั้ง “โรงไฟฟ้าขยะชุมชน” โครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 11 อปท.ใน 9 พื้นที่ ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นนทบุรี ระยอง หนองคาย กระบี่ ตาก อุดรธานี และกรุงเทพมหานคร มูลค่าลงทุน 13,101 ล้านบาท