รองโฆษกรัฐบาล เผยรัฐบาลดูแล SME ขยายเวลาโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน อีก 1 ปี พร้อมปรับเกณฑ์ใหม่ ช่วย SME เข้าถึงเงินทุนได้มากขึ้น
วันนี้ (19 ม.ค.) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตามที่รัฐบาลได้ออกมาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อน SME สู่ยุค 4.0 ผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ลงทุน และปรับปรุงกิจการสำหรับผู้ประกอบการ SME วงเงินสินเชื่อรวม 50,000 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 7 ปี โดยรัฐจะชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) อัตราร้อยละ 2 ต่อปี ใน 3 ปีแรก รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 3,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการสิ้นสุดแล้วเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ธพว.ได้อนุมัติสินเชื่อ จำนวน 24,606 ราย วงเงินรวม 40,440 ล้านบาท มีวงเงินโครงการคงเหลือ 9,559 ล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ครม.จึงมติขยายระยะเวลาโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ออกไปอีก 1 ปี คือ สิ้นสุดวันที่ 18 ธันวาคม 2564 และกำหนดหลักเกณฑ์กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
1. ผู้ประกอบการ SME ที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในกลุ่มเป้าหมายที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับ (1) ธุรกิจเกษตรแปรรูป (Food/Non-Food) (2) ธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน ธุรกิจเกี่ยวเนื่องการท่องเที่ยว ธุรกิจที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) (3) ผู้ประกอบการใหม่ หรือมีนวัตกรรม หรือธุรกิจผลิต หรือบริการอื่นๆ หรือธุรกิจค้าส่งค้าปลีก
2. เป็นการให้สินเชื่อใหม่ ทั้งลูกค้าเดิมหรือลูกค้าใหม่ และไม่ใช่ลูกหนี้ที่โอนหนี้ (Re-finance) มาจากสถาบันการเงินอื่น
พร้อมทั้งได้ตัด 2 หลักเกณฑ์เดิมที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินโครงการ คือ 1. ต้องเป็นผู้ประกอบการ SME ที่ไม่เคยได้รับการอนุมัติและใช้วงเงินสินเชื่อจาก 1) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) และ 2)โครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan 2. ต้องมีวงเงินสินเชื่อรวมทุกสถาบันการเงินต่อราย (ไม่รวมกิจการในกลุ่ม) ไม่เกิน 50 ล้านบาท ณ วันยื่นขอกู้ ซึ่งทำให้กลุ่มเป้าหมายไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ เนื่องจากผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกัน จึงใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ค้ำประกัน แต่ บสย.มีวงเงินไม่เพียงพอในการค้ำประกัน
น.ส.รัชดากล่าวเพิ่มเติมว่า การขยายระยะเวลาโครงการและปรับปรุงหลักเกณฑ์กลุ่มเป้าหมายในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยผู้ประกอบการ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อีกประมาณ 5,760 ราย วงเงินกู้เฉลี่ยต่อรายไม่เกิน 1.65 ล้านบาท ภายใต้วงเงินโครงการคงเหลือ 9,559 ล้านบาท และสามารถรักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 28,800 คน อีกทั้งยังสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 43,510 ล้านบาทด้วย