รมว.ดีอีเอส เผยแอปฯ “หมอชนะ” ช่วยติดตามควบคุมการแพร่เชื้อของโรค สี QR CODE จะเปลี่ยนระดับเสี่ยงทันทีหากมีผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยืนยันแล้วมาใกล้เรา หากมีความเสี่ยงสูงให้รีบโทร.แจ้งกรมควบคุมโรค 1422 จะมี จนท.รีบไปตรวจได้ทันที ย้ำไม่ละเมิดสิทธิดึงข้อมูลส่วนตัวประชาชน
วันนี้ (8 ม.ค.) เวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์กรณีความสับสนของประชาชนในการโหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ว่า การรณรงค์ให้ใช้แอปพลิเคชันหมอชนะเพื่อช่วยให้ติดตามควบคุมการแพร่เชื้อของโรค เราระมัดระวังข้อมูลไม่ได้ไปละเมิดสิทธิของใคร ขอชี้แจงว่าที่ยังมีข้อกังวลและเกิดความสับสนอยู่ในสังคม คือ เมื่อโหลดแอปฯ ไปแล้วมีความปลอดภัยหรือไม่ เรียนว่ามีความปลอดภัย เพราะเมื่อโหลดไปแล้วจะไม่ปรากฏชื่อและนามสกุล แต่จะเป็นรหัสตัวเลขระบบคอมพิวเตอร์ ดังนั้น เวลาเข้าไปดูจะไม่รู้ว่าเป็นใคร ซึ่งผู้ที่จะเข้าไปดูข้อมูลได้จะมีแต่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และสามารถย้อนหลังไปได้ประมาณ 14 วัน แล้วจะทราบว่าตัวเลขนี้ไปพบกับใครบ้าง ก็จะส่งสัญญาณเตือนเจ้าของหมายเลขนั้นๆ ว่ามีความเสี่ยง ส่วนเรื่องข้อกังวลเกี่ยวกับไทม์ไลน์ ถ้าพร้อมใจกันโหลดแอปฯ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปบอกทางไทม์ไลน์ให้คนอื่นรู้ เพราะระบบตรวจสอบเองว่าคนที่ติด 1 คนได้ไปสัมผัสกับใครบ้างที่โหลด จึงสบายใจได้ว่าถ้ามีปัญหา ขณะที่ข้อกังวลว่าว่าต้องมีการถ่ายรูปเพื่อยืนยันตัวตนอาจจะไม่ปลอดภัยอาจถูกนำไปเก็บในข้อมูลของรัฐบาลหรือไม่นั้น ยืนยันว่าการถ่ายรูปเป็นแค่การถ่ายเก็บไว้ในมือถือของบุคคลนั้นๆ ไม่ได้นำมาเก็บไว้เป็นข้อมูลส่วนกลาง ซึ่งการถ่ายรูปเป็นการยืนยันตัวตนในกรณีที่จะเดินทางข้ามจังหวัด สามารถแสดงที่จุดตรวจหรือด่านสกัด
นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า สุดท้ายข้อกังวลว่ามีการติดตามทางไมโครโฟนว่าเวลาพูดอะไรออกไปแล้วจะดูดเสียงเก็บไว้เพื่อเอาข้อมูล เรื่องนี้ไม่เป็นความจริงและแอปฯ ปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ใช้ท่ามกลางการให้ระบาดเป็นวงกว้าง เพื่อให้หมอและพยาบาลเฝ้าติดตามข้อมูลและป้องกันการติดต่อของเชื้อที่จะไปกับประชาชนที่เดินทางสามารถทำได้เร็วขึ้น และจำกัดการแพร่ตัวของโรคได้เร็วขึ้น ขอยืนยันว่าข้อมูลทั้งหมดปลอดภัยเป็นประโยชน์ต่อการติดตามควบคุมและสอดส่องโรค
เมื่อถามว่าเหตุใดไม่รวมแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” กับ “หมอชนะ” ไว้ด้วยกันเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ระบบการทำงานไม่เหมือนกัน การใช้แอปฯ ไทยชนะครั้งนั้นเพราะสถานการณ์ของประเทศไทยผ่อนคลายลงมาก ซึ่งเป็นรูปแบบการเช็กอินและเช็กเอาต์ ถ้าพบว่ามีใครติดเชื้อต้องมานั่งดูว่ามีใครอยู่ในเวลาใกล้เคียงกันแล้วโทร.ไปแจ้ง แต่ในปัจจุบันมีการแพร่ระบาดมาก มีการเดินทางไปในที่ต่างๆ ระบบของหมอชนะที่ติดตามโดยจีพีเอส และบลูทูธ จะทำได้ดีกว่า แต่ถ้าจะใช้ทั้ง 2 แอปพลิเคชันก็ได้ ซึ่งทั้ง 2 ตัวแตกต่างกันที่ระบบการทำงาน