อดีต ส.ส.ปชป. จี้เลขาฯ สภาผู้แทนราษฎรแถลงเหตุไม่ขยายเวลาก่อสร้างรัฐสภาครั้งที่ 5 อย่างโปร่งใส หลังมีกระแสข่าวว่าอาจมีงุบงิบชดเชยรายได้ให้เอกชน
วันนี้ (30 ธ.ค.) นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงมติของคณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่ไม่เห็นชอบให้ขยายเวลาก่อสร้างครั้งที่ 5 จำนวน 133 วัน ว่าวันนี้เป็นวันประชุมวันสุดท้ายของคณะกรรมการตรวจการจ้าง และวันพรุ่งนี้คือวันสิ้นอายุการขยายเวลาการก่อสร้างครั้งที่ 4 คือวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เมื่อบริษัทผู้รับเหมาไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จในกำหนดเวลาที่ขยายให้แล้วนั้น ต้องเสียค่าปรับวันละ 12 ล้านตามสัญญา กรรมการตรวจการจ้างมีอำนาจตรวจตามแบบรายการและเสนอเบิกจ่ายตามสัญญาเท่านั้น นับจากวันที่ 1 มกราคม 2564 ต้องเสนอปรับวันละ 12 ล้านบาทเศษตามสัญญาจะไปงดค่าปรับหรือลดค่าปรับหรือหาวิธีการชดเชยรายได้ใดๆ ให้บริษัทผู้เหมาไม่ได้ เพราะมีรายงานข่าวว่าเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญนายภาคภูมิ ศรีชำนิ ผู้แทนบริษัทผู้รับเหมา นายสุทธิพล พัชรนฤมล ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างของบริษัท นายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ ประธานคณะกรรมการตรวจการจ้าง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อคนหนึ่งไปหารือกันถึงเรื่องจะหาทางชดเชยรายได้ให้กับบริษัทผู้รับเหมาหากไม่มีการขยายสัญญาการก่อสร้างครั้งที่ 5จึงอยากถามนางพรพิศ ว่าจริงหรือไม่
“และเมื่อคณะกรรมการตรวจการจ้างมีมติไม่ขยายเวลาก่อสร้างครั้งที่ 5 ให้แก่ผู้รับเหมา เหตุใดนางพรพิศจึงไม่แถลงเรื่องสำคัญนี้ต่อสื่อมวลชน เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจมาก เกี่ยวพันกับเงินภาษีอากรของประชาชนโดยตรงนับหมื่นล้านบาท จึงควรทำเรื่องนี้ให้โปร่งใส อย่าได้มีลับลมคมในให้คนสงสัยเหมือนสมัยนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนที่แล้ว“
นายวัชระกล่าวว่า นางพรพิศควรนำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เลขที่ 116/2556 ลงวันที่ 30 เมษายน 2556 วงเงิน 12,280 ล้านบาท เพื่อพิจารณาว่าบริษัทผู้รับเหมาทำผิดสัญญาข้อใดบ้าง ที่สำคัญมีการจ้างบริษัทรับจ้างช่วงหรือไม่ แล้วผิดสัญญาหรือไม่ ค่าปรับหากสร้างไม่เสร็จวันละ 12 ล้านบาทจริงหรือไม่ และจะรักษาผลประโยชน์ของทางราชการอย่างไรที่จะสภาจะไม่เสียเปรียบบริษัทผู้รับเหมาอีกต่อไป เพราะทุกบาทคือเงินภาษีของประชาชนทั้งสิ้น หรือหากนางพรพิศอ่านสัญญาแล้วสงสัย สามารถทำหนังสือถามสำนักกฎหมายได้ตลอดเวลา เพราะหากพลาดพลั้งไป ก็ต้องไปให้การต่อ ป.ป.ช.เหมือนนายสรศักดิ์ เพียรเวช อดีตเลขาฯ สภาที่เป็นตัวอย่างชัดๆ ให้เห็นแล้ว